คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารผู้คัดค้านและอยู่ในระหว่างบัญชียังเดินสะพัดการที่จำเลยนำเช็คของธนาคารอื่นมาเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อให้ธนาคารผู้คัดค้านเรียกเก็บเงินให้ภายในระยะเวลา3เดือนก่อนจำเลยถูกโจทก์ฟ้องขอให้ล้มละลายถือได้ว่าเป็นการนำเงินตามเช็คฝากเข้าบัญชีเดินสะพัดหาใช่จำเลยมีเจตนาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้คัดค้านที่ธนาคารผู้คัดค้านเรียกเก็บเงินตามเช็คได้แล้วนำมาหักกับยอดหนี้ที่จำเลยเบิกเกินบัญชีอยู่ในขณะนั้นเป็นเพียงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการบัญชีตามปกติธรรมดาของธนาคารกรณีมิใช่จำเลยได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นตามพ.ร.บ.ล้มละลายฯมาตรา115เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงขอให้ศาลเพิกถอนการฝากเงินตามเช็คดังกล่าวไม่ได้ ธนาคารผู้คัดค้านนำเงินฝากประจำของจำเลยไปเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยภายในกำหนด3เดือนก่อนจำเลยถูกโจทก์ฟ้องขอให้ล้มละลายเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีธนาคารผู้คัดค้านการกระทำของธนาคารผู้คัดค้านดังกล่าวเกิดจากข้อตกลงตามหนังสือยินยอมให้หักบัญชีเงินฝากประจำชำระหนี้ระหว่างจำเลยกับธนาคารผู้คัดค้านโดยทำขึ้นก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลายเกือบ9เดือน ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวลูกหนี้ยินยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านนำเงินในบัญชีฝากประจำมาหักหนี้เบิกเกินบัญชีในบัญชีเดินสะพัดเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องมีการตัดทอนบัญชีก่อนและโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือขอความยินยอมลูกหนี้เสียก่อนการที่ธนาคารหักหนี้ดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำหรือยินยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านกระทำการโอนบัญชีและหักหนี้ในระหว่างระยะเวลา3เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้ธนาคารผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นตามพ.ร.บ.ล้มละลายฯมาตรา115เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้เพิกถอนการโอนไม่ได้(อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่2453/2527).

ย่อยาว

คดีนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างลูกหนี้ (จำเลย) กับธนาคารผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2522 และวันที่ 17 กันยายน 2522 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 โดยอ้างว่าการที่ลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีและยินยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านโอนเงินในบัญชีฝากประจำชำระหนี้เป็นการกระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยมุ่งหมายให้ธนาคารได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด คัดค้านว่าเงินทั้งสองจำนวนที่ผู้ร้องให้เพิกถอนมิได้เป็นเงินที่ลูกหนี้นำมาชำระหนี้ให้ผู้คัดค้าน โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้าน ให้ผู้คัดค้านคืนเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พร้อมดอกเบี้ย
ผู้ค้ดค้านฎีกา
ในปัญหาที่ผู้คัดค้านหักเงินในบัญชีกระแสรายวันของลูกหนี้จำนวน 12,000 บาท เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2522 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ลูกหนี้ (จำเลย) เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับธนาคารผู้คัดค้านและลูกหนี้ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวมีกำหนด 12 เดือน โดยจะครบกำหนดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 14 มกราคม 2523 บัญชีกระแสรายวันเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856สาระสำคัญของบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ข้อตกลงให้คิดตัดทอนหักกลบลบหนี้กันเป็นคราว ๆ ไป และเมื่อตัดทอนบัญชีกันแล้ว ฝ่ายที่เป็นเจ้าหนี้ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาคจึงจะมีสิทธิเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้ ฉะนั้นในระหว่างบัญชียังเดินสะพัดก่อนที่จะถึงกำหนดตัดทอนบัญชีกัน แม้จะมีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีก็ตาม ก็เป็นเพียงการนำเงินเข้าฝากในบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น หาใช่เป็นการนำเงินเข้าชำระหนี้แต่ประการใดไม่ เพราะขณะที่นำเงินเข้าฝากยังไม่ถือว่าหนี้ที่จะต้องชำระดังกล่าวแล้ว ดังนั้นการที่ลูกหนี้เอาเช็คของธนาคารอื่นมาเข้าบัญชีกระแสรายวันของลูกหนี้ จำนวน12,000 บาท เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2522 เพื่อให้ธนาคารผู้คัดค้านเรียกเก็บเงินให้ จึงเป็นการนำเงินตามเช็คดังกล่าวฝากเข้าบัญชีเดินสะพัดของลูกหนี้ หาใช่ลูกหนี้มีเจตนาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้คัดค้านแต่ประการใดไม่ ที่ธนาคารผู้คัดค้านเรียกเก็บเงินจำนวน12,000 บาทตามเช็คได้แล้ว ได้นำมาหักกับยอดหนี้ที่ลูกหนี้เบิกเกินบัญชีอยู่ในขณะนั้น ก็เป็นเพียงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการบัญชีตามปกติธรรมดาของธนาคารเท่านั้น กรณีมิใช่ลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 แต่ประการใดไม่ ผู้ร้องจึงขอให้ศาลเพิกถอนการฝากเงินตามเช็คดังกล่าวไม่ได้
ในปัญหาที่ผู้คัดค้านนำเงินฝากประจำของลูกหนี้จำนวน 1,041,148บาท 48 สตางค์ เข้าหักกลบลบหนี้ที่ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2522 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ลูกหนี้ได้ทำหนังสือยินยอาให้ธนาคารผู้คัดค้านนำเงินในบัญชีฝากประจำมาหักหนี้เบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีเดินสะพัดเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องมีการตัดทอนบัญชีกันเสียก่อน และโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือขอความยินยิมของลูกหนี้เสียก่อน ดังนั้น การที่ธนาคารผู้คัดค้านใช้สิทธิโอนเงินฝากประจำบัญชีของลูกหนี้เข้าบัญชีกระแสรายวันของลูกหนี้ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2522 เพื่อชำระหนี้เบิกเกินบัญชีนั้น จึงเกิดจากข้อตกลงตามหนังสือสัญญายินยอมให้หักบัญชีเงินฝากประจำชำระหนี้ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้าน ซึ่งข้อตกลงนี้ได้ทำขึ้นก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายเป็นเวลาเกือบ 9 เดือนประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115บัญญัติใช้คำว่าลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำนั้น ย่อมมุ่งถึงกิริยาที่ลูกหนี้ยินยอม มิได้ใช้คำว่าผู้อื่นทำด้วยความยินยอมของลูกหนี้ ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้ธนาคารผู้คัดค้านกระทำการโอนบัญชีและหักหนี้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2522โดยมีเจตนามุ่งหมายให้ธนาคารผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นผู้ร้องจึงขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 115 ไม่ได้
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องตามคำสั่งของศาลชั้นต้น.

Share