คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2263/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมิได้ร่วมกันเรียกร้องให้จำเลยรับผิดอย่างเจ้าหนี้ร่วม แต่แต่ละคนต่างเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่ตนได้รับเท่านั้น แม้จะอาศัยมูลละเมิดเดียวกัน คดีสำหรับโจทก์คนใดจะอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่นั้น ต้องแยกพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์คนนั้นเรียกร้อง โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 9 เรียกร้องให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้แก่ตนเป็นจำนวนคนละไม่เกิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีสำหรับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 9 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์เทรลเลอร์สิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1191 ตาก ขณะเกิดเหตุมีนายแสงไม่ทราบนามสกุล เป็นลูกจ้างผู้ขับในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เทรลเลอร์ไว้จากจำเลยที่ 1 ในสัญญากรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะไม่เกิน 50,000 บาท ต่อหนึ่งคน เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2529เวลาประมาณ 19 นาฬิกา โจทก์ที่ 11 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน10-0672 ราชบุรี บรรทุกคนโดยสารเต็มคันรถไปตามถนนสายหนองปลาหมอ-หนองตากยา เมื่อถึงที่เกิดเหตุหมู่ที่ 12 ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี นายแสงลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์เทรลเลอร์ถอยหลังด้วยความเร็ว และไม่ดู เป็นเหตุให้ท้ายรถยนต์เทรลเลอร์ชนกับรถยนต์โดยสารที่กำลังแล่นชิดซ้ายมาบนผิวจราจรทำให้รถยนต์โดยสารเสียหลักแล่นเบนไปข้างหน้าด้านขวาชนกับรถยนต์สิบล้อที่จอดอยู่นอกผิวจราจรฝั่งตรงข้ามเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 4, ที่ 9, ที่ 10 ซึ่งเป็นผู้โดยสารและโจทก์ที่ 11 ผู้ขับรถยนต์โดยสารได้รับบาดเจ็บ เด็กหญิงน้ำเย็นบุตรโจทก์ที่ 5 เด็กหญิงศิริพร บุตรโจทก์ที่ 6 นายต้อย สามีโจทก์ที่ 7 และนางฉาบ มารดาโจทก์ที่ 8 ซึ่งเป็นผู้โดยสารถึงแก่ความตายโจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บขาข้างขวาขาด ไม่สามารถทำนาได้ ทำให้ขาดรายได้ปีละ 10,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 50,000 บาทและค่าเสียหายแก่จิตใจเพราะขาขาด เป็นเงิน 20,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 70,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บสลบไป2 วัน และหัวไหล่ดุ้งรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 สัปดาห์ และขณะนี้ยังทำงานหนักไม่ได้ คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท โจทก์ที่ 3 ได้รับบาดเจ็บไหปลาร้าซ้ายหักรักษาอยู่ 4 เดือน แต่ยังหายไม่เป็นปกติ และทำงานหนักไม่ได้ตลอดชีวิต คิดค่าเสียหายเป็นเงิน50,000 บาท โจทก์ที่ 4 ได้รับบาดเจ็บที่ขาขวา หัวเข่าหลุด รักษาตัวที่โรงพยาบาล 1 สัปดาห์ และหัวเข่ายังไม่เข้าที่ เดินไม่ถนัดทำงานหนักไม่ได้ตลอดชีวิต ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาทโจทก์ที่ 5 เป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กหญิงน้ำเย็นต้องเสียค่าปลงศพ 15,000 บาท ต้องขาดรายได้จากค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ1,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 60,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 75,000 บาท โจทก์ที่ 6 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงศิริพร ต้องเสียค่าปลงศพ 10,000 บาท และขอคิดค่าเสียหายแก่จิตใจเป็นเงิน 20,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 30,000 บาทโจทก์ที่ 7 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายต้อย ต้องเสียค่าปลงศพ 20,000 บาท ต้องขาดไร้อุปการะปีละ 10,000 บาท เป็นเวลา5 ปี เป็นเงิน 50,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 70,000 บาท โจทก์ที่ 8 เป็นบุตรนางฉาบต้องเสียค่าทำศพ 15,000 บาท ต้องขาดไร้อุปการะเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 60,000 บาทรวมค่าเสียหายเป็นเงิน 75,000 บาท โจทก์ที่ 9 ได้รับบาดเจ็บสะโพกหลุดและเคลื่อนจากเดิม ทำให้เดินไม่ถนัด ทำให้ร่างกายพิการคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท โจทก์ที่ 10 ได้รับบาดเจ็บขาขวาหักรักษาหายแล้วแต่ขาทั้งสองข้างสูงไม่เท่ากัน เดินไม่ถนัดคิดค่าเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจเป็นเงิน 40,000 บาท โจทก์ที่ 11มีอาชีพรับจ้างขับรถได้รับบาดเจ็บขาหักทั้งสองข้าง ยังเดินได้ไม่ดีไม่สามารถขับรถยนต์ได้ตลอดชีวิต คิดค่าเสียหายเป็นเวลา 3 ปีเป็นเงิน 129,600 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้ง 11 คน เป็นเงินรวม 659,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายแสงเป็นลูกจ้างและขับรถยนต์เทรลเลอร์หมายเลขทะเบียน 80-1191 ตาก ไปในทางการที่จ้างของผู้มีชื่อ จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เทรลเลอร์ดังกล่าวแต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็เพราะโจทก์ที่ 11 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-0672 ราชบุรี ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารเฉี่ยวชนท้ายรถยนต์เทรลเลอร์จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด สำหรับค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน20,000 บาท ของโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน 2,000 บาท ของโจทก์ที่ 3 ไม่เกิน3,000 บาท ของโจทก์ที่ 4 ไม่เกิน 1,500 บาท ของโจทก์ที่ 5 ไม่เกิน23,000 บาท ของโจทก์ที่ 6 ไม่เกิน 4,000 บาท ของโจทก์ที่ 7ไม่เกิน 6,000 บาท ของโจทก์ที่ 8 ไม่เกิน 5,000 บาท ของโจทก์ที่ 9 ไม่เกิน 1,000 บาท ของโจทก์ที่ 10 ไม่เกิน 1,800 บาท ส่วนโจทก์ที่ 11 ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 70,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ที่ 4 จำนวน 25,000 บาท ให้โจทก์ที่ 5 จำนวน 70,000 บาท ให้โจทก์ที่ 6 จำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ที่ 7 จำนวน 60,000 บาท ให้โจทก์ที่ 8 จำนวน 70,000 บาท ให้โจทก์ที่ 9 จำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ที่ 10 จำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ที่ 11 จำนวน 72,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดคนละ 22,727.27 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นายแสงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และขับรถยนต์เทรลเลอร์หมายเลขทะเบียน80-1191 ตาก ของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-0672 ราชบุรี เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 11 ได้รับอันตรายและอันตรายสาหัส เด็กหญิงน้ำเย็น ไผ่ล้อม เด็กหญิง ศิริพรคำผา นายต้อย ลำเพา และนางฉาบ ศรีทอง ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1ที่ 5 และที่ 8 ได้รับความเสียหายเป็นเงินคนละ 70,000 บาท โจทก์ที่ 6 และที่ 10 ได้รับความเสียหายเป็นเงินคนละ 30,000 บาท โจทก์ที่ 7 และที่ 11 ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 60,000 บาท และ 72,000บาท ตามลำดับ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย ปล.1 หรือไม่อย่างไรและโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 9 ได้รับความเสียหายเพียงใด…ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 1ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนแรกก่อนเป็นเงิน 1,000 บาทหากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต้องนำเงินส่วนนี้หักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเสียก่อนนั้นเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินส่วนนี้ให้โจทก์คนหนึ่งคนใดไปแล้ว จำเลยที่ 2ก็ไม่อาจยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 9 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลกำหนดสูงเกินไป ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2ที่ 3 และที่ 9 ไม่ควรเกินคนละ 5,000 บาท และค่าเสียหายของโจทก์ที่ 4 ไม่ควรเกิน 3,000 บาท ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดมิได้ร่วมกันเรียกร้องให้จำเลยรับผิดอย่างเจ้าหนี้ร่วม แต่ละคนต่างเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่ตนได้รับเท่านั้น แม้จะอาศัยมูลละเมิดเดียวกัน คดีสำหรับโจทก์คนใดจะอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่นั้น ต้องแยกพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์คนนั้น ๆ เรียกร้อง ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 9เรียกร้องให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้แก่ตนเป็นจำนวนคนละไม่เกิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 9จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน.

Share