คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2998/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้อื่นนำเช็คปลอมไปเบิกและรับเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 จากธนาคาร การที่จำเลยที่ 2 นำเงินเข้าฝากในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 เป็นสิ่งปกติธรรมดาเพราะเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ฝาก ถอนเงินในบัญชีของตนเองที่อีกธนาคารหนึ่ง แม้บางครั้งบางเวลาจำนวนเงินจะใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่มีผู้นำเช็คปลอมไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ซึ่งอาจเป็นเหตุบังเอิญได้ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดในการใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกงธนาคาร

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมสมคบกับพวกใช้ตั๋วเงินคือเช็คปลอมและฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266, 268, 341, 83, 90, 91 ลงโทษตามมาตรา 266, 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 12 กระทงเป็นจำคุก 12 ปี ให้ใช้เงินที่ฉ้อโกงไปรวม 3,187,900 บาท แก่ธนาคารกรุงศรีอยุทธา ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกับพวกใช้เช็คปลอมและฉ้อโกงตาม มาตรา 266, 268, 341, 83 การกระทำแต่กระทงละเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม มาตรา 266 ซึ่งเป็นหนัก จำคุกกระทงละ1 ปี รวม 12 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เงินที่ฉ้อโกงไป จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2521 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้นำเงินสด 50,000 บาท มาขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาไปรษณีย์กลาง ธนาคารเปิดบัญชีให้เลขบัญชีที่ 1004 และมอบสมุดเช็คให้ 1 เล่ม จำนวน 20 ฉบับ หมายเลข พีเอ็นเค 2068861 ถึง 2068880 หลังจากนั้นประมาณครึ่งชั่วโมงมีนางสาววิไล ปานแก้ว มาขอเปิดบัญชีประเภทเดียวกันโดยนำเงิน 40,000 บาท มาฝากในวันเปิดบัญชี ธนาคารเปิดบัญชีให้เลขที่บัญชี 1005 และมอบสมุดเช็คให้ 1 เล่ม จำนวน 20 ฉบับ คือเช็คหมายเลข พีเอ็นเค 2068821 ถึง 2068940 วันรุ่งขึ้นนางสาววิไลได้ถอนเงินที่ฝากไว้เป็นเงิน 39,500 บาท คงเหลือเงินในบัญชี 500 บาท ส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้ฝากเงิน 18 ครั้ง และถอนเงิน 12 ครั้งคือระยะเวลาระหว่างวันที่ 2 มีนาคม 2521 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2521 ส่วนใหญ่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินเข้าฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 สำหรับเช็คที่สั่งจ่ายและถอนเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1 ทั้ง 12 ครั้งนั้น ปรากฏตามต้นฉบับเช็ค 10 ฉบับ เอกสารหมาย จ.14 ส่วนต้นฉบับเช็คอีก 2 ฉบับ พนักงานสอบสวนทำหายไประหว่างการสอบสวน คงมีแต่ภาพถ่ายเช็คที่หาย 2 ฉบับคือ ภาพถ่ายเช็คหมายเลข 11 และ 12 เช็คหมายเลข จ.14 มี 10 ฉบับหมายเลข 1 ถึงหมายเลข 10 เป็นเช็คที่มีผู้นำมาถอนเงินไปจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลาง โดยเช็คหมายเลข 1, 4, 6, 7, 9 มีนายสันติ พวงผล เป็นผู้นำมาขอเบิกและรับเงินไป เช็คหมายเลข 2, 3, 5, 8, 10 นางสาววิไล ปานแก้ว เป็นผู้นำมาขอเบิกและรับเงินไปส่วนเช็คตามภาพถ่ายหมายเลข 11 และ 12 เป็นเช็คที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาอโศก – ดินแดง ส่งมาเรียกเก็บเงิน เพื่อนำเงินไปเข้าบัญชีของนายสันติ พูนผลหรือพวงผล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลาง ได้ตรวจเช็คทั้ง12 ฉบับแล้วเห็นว่าถูกต้องจึงจ่ายเงินให้ไปตามเช็คดังกล่าวนั้น รวมเงินตามเช็คทั้ง 12 ฉบับเป็นเงิน 3,197,900 บาท ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2521 มีเช็คของจำเลยที่ 1 มาเบิกเงินโดยผ่านบัญชีธนาคารกวางตุ้ง จำกัด คือเช็คเลขที่ พีเอ็นเค 2068861 สั่งจ่ายเงิน 542,471 บาท 75 สตางค์ ตามเอกสารหมาย จ.17 ปรากฏว่าเงินในบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่พอจ่าย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลาง จึงคืนเช็คดังกล่าวให้ธนาคารกวางตุ้ง จำกัดไป โดยแจ้งว่าให้ติดต่อผู้สั่งจ่าย วันที่ 1 เมษายน 2521 จำเลยที่ 1 ได้มาขอตรวจบัญชีเงินฝากของตน อ้างว่าไม่เคยจ่ายเงินในบัญชีเงินฝากเลย จำเลยที่ 1 ขอให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลาง ใช้เงิน 3,197,900 บาทแก่ตน แต่ธนาคารดังกล่าวไม่ยอมใช้ให้ ได้แนะนำให้จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบางรัก จากการตรวจสอบปรากฏว่า ในการขอเปิดบัญชีเงินฝากของนางสาววิไลและนายสันตินั้น ทั้งนางสาววิไลและนายสันติได้แจ้งเท็จเกี่ยวกับที่อยู่ของตนต่อธนาคารและใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงมอบอำนาจให้นายวิชัย หล่อศิริ ผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลาง ไปแจ้งความร้องทุกข์จากการสอบสวนได้ความว่า เช็คที่นำมาขอเบิกเงินไปนั้น มีการแก้เลขบัญชีในเช็คโดยแก้เลขที่ 1005 เป็นเลขที่ 1004 และแก้เลขลำดับในเช็คทรงตรงหลักสิบและหลักร้อย เมื่อแก้แล้วจึงกลายมาเป็นเช็คที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลาง ได้มอบให้จำเลยที่ 1 ในวันที่จำเลยที่ 1 มาเปิดบัญชีเงินฝากไว้แก่ธนาคาร ปรากฏตามเช็คปลอม 12 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.14และเมื่อมีผู้นำเช็คปลอมแต่ละฉบับไปเบิกเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดสาขาไปรษณีย์กลาง แต่ละครั้งแล้ว ยอดเงินคงเหลือในบัญชีของจำเลยที่ 1 จะมีเงินเหลือเพียงเล็กน้อยทุกครั้งไป เมื่อมีการเบิกเงินไปแล้วก็จะมีการนำเงินมาฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 อีก แล้วก็มีผู้นำเช็คปลอมมาเบิกเงินไปอีก ทำเช่นนี้สลับกันไป ผลการตรวจพิสูจน์เช็คปลอมดังกล่าว ปรากฏว่าลายเซ็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในเช็คทั้งสิบสองฉบับเป็นลายเซ็นปลอม โดยวิธีเขียนลากทาบจากลายเซ็นชื่อของจำเลยที่ 1 ส่วนเช็คของนายสันติ พวงผล ที่เบิกเงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาอโศก – ดินแดง ฉบับหมายเลขบีซีบี 870426จำนวนเงิน 198,500 บาทนั้น ปรากฏจากการตรวจพิสูจน์ว่าตัวเลข 198,500เป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 นอกจากนั้นยังมีเหตุที่เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมในการกระทำผิดกับนางสาววิไลและนายสันติ เพราะบัญชีเงินฝากของบุคคลทั้งสี่มีการฝากและถอนเงินที่เป็นพิรุธมียอดเงินและเวลาฝากและถอนเงินใกล้เคียงกัน บัญชีเงินฝากของนางสาววิไล ของจำเลยที่ 1 ของนายสันติและของจำเลยที่ 2 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10, จ.11, จ.16และ จ.22 ตามลำดับ จำเลยทั้งสองมีฐานะทางการเงินไม่ดี เคยถูกฟ้องและแพ้คดีจนกระทั่งถูกยึดทรัพย์ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11941/2520ของศาลแพ่ง และตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 140/2520 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์

จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 แต่มิได้จดทะเบียนสมรส จำเลยที่ 2 มีอาชีพค้าขายและทำการก่อสร้าง เมื่อประมาณต้นปี 2541 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกับพวกหุ้นส่วนทำหนังสือพิมพ์ภาษาจีนชื่อเสียงฟ้า ใช้ทุน 5,000,000 บาท มีผู้ร่วมทุน 6 คน คือจำเลยทั้งสองลงทุน1,265,630 บาท นายเปงบู๋ แซ่ลิ้ม ลงทุน 500,000 บาท นางทัศนีย์ วงศ์ไพโรจน์พาณิชย์ ลงทุน 500,000 บาท นางหลักซ้อลงทุน 275,000 บาท และนางสุมลลงทุน 660,000 บาท รวมทุนครั้งแรก 3,200,630 บาท หุ้นส่วนทั้งหมดมอบให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รักษาเงินที่เก็บรวบรวมมาได้ จำเลยที่ 1 ได้นำเงินดังกล่าวไปเปิดบัญชีฝากเงินไว้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลางต่อมาประมาณปลายเดือนมีนาคม 2521 พวกหุ้นส่วนเห็นว่ากิจการหนังสือพิมพ์ยังไม่ได้เริ่มต้นจึงตกลงให้นำเงินที่รวบรวมได้ไปซื้อผ้ามาค้าหากำไร โดยมอบให้จำเลยที่ 1 ติดต่อซื้อผ้า จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อซื้อผ้า และออกเช็คสั่งจ่ายเงิน540,000 บาทเศษ แล้วมอบให้จำเลยที่ 2 นำไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารกวางตุ้ง จำกัด แต่ธนาคารเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ เช็คทั้งหมดของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลาง เพิ่งนำออกมาใช้สั่งจ่ายครั้งนี้เท่านั้น เมื่อปรากฏว่ามีการปลอมเช็คเบิกเงินไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จำเลยทั้งสองจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบางรัก เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2521 จำเลยทั้งสองไม่รู้จักนางสาววิไล ปานแก้ว และนายสันติ พวงผล การนำเงินเข้าฝากเมื่อเปิดบัญชีครั้งแรกจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินเข้าฝากเอง ครั้งต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำเงินเข้าฝากทั้งหมด จำเลยที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคารกวางตุ้ง จำกัด เพราะอยู่ใกล้บ้าน จำเลยที่ 2 เปิดบัญชีไว้ 2 บัญชี คือบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและบัญชีสะสมทรัพย์ ทั้งนี้เพราะบัญชีสะสมทรัพย์ได้ดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 จึงเหลือเงินไว้ในบัญชีกระแสรายวันเพียง 600 บาท แต่มีเงินอยู่ในบัญชีสะสมทรัพย์ 200,000 บาท

คดีมีปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า ได้ร่วมกระทำความผิดในการใช้เอกสาร (เช็ค) ปลอมและฉ้อโกงดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ไม่ได้ความว่าผู้ใดเป็นผู้ปลอมเช็คหมาย จ.14 ขึ้น ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เกี่ยวข้องกับการปลอมเช็คหมาย จ.14 หรือนำเช็คปลอมไปเบิกเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลางแต่อย่างใด คงได้ความว่าผู้ที่นำเช็คปลอมหมาย จ.14 ไปเบิกและรับเงินไปจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลาง คือนางสาววิไล ปานแก้ว และนายสันติ พวงผล หาใช่จำเลยที่ 2 ไม่ การที่จำเลยที่ 2 ได้นำเงินเข้าฝากในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาไปรษณีย์กลาง ก็เป็นสิ่งปกติธรรมดา เพราะจำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ฝากเงิน ถอนเงินในบัญชีของตนเองที่ธนาคารกวางตุ้ง จำกัด แม้บางครั้งบางเวลาจำนวนเงินจะใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่มีผู้นำเช็คปลอมไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ก็ตาม ซึ่งอาจเป็นเหตุบังเอิญได้ เพียงเท่านี้ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดในการใช้เช็คปลอมด้วย สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดในการใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกงดังโจทก์ฟ้อง”

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share