แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในการพิจารณาและวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2540 หรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจยกขึ้นอ้างในคดีได้โดยไม่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 270,319.08 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20.25 บาท ของต้นเงิน 206,002.55 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่เคยลงลายมือชื่อค้ำประกันเงินกู้ตามฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์คิดดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 จึงเป็นโมฆะก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท แต่โจทก์มิได้หักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระดังกล่าวการคิดดอกเบี้ยตามฟ้องของโจทก์จึงไม่ถูกต้อง การที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ15 ต่อปี นอกจากจะขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654แล้วยังขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540มาตรา 25 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่ควรที่จะมีสิทธิเหนือประชาชนคนไทยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นกล่าวอ้างว่า พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินพ.ศ. 2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี กับประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. 2535ฉบับลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 และฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2535รวมทั้งประกาศของโจทก์เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2539 ฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2540 ฉบับลงวันที่ 15มกราคม 2541 และฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2541 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 เนื่องจากพระราชบัญญัติและประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวมาข้างต้นให้สถาบันการเงินเรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลดเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ประชาชนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2475 ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย และไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินเกินกว่าอัตราร้อยละ15 ต่อปี รวมทั้งประกาศต่าง ๆ ดังกล่าว จึงน่าจะใช้บังคับไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 ขอให้ศาลชั้นต้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวไปตามทางการเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์270,319.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี ของต้นเงิน206,002.55 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้นำเงินจำนวน 10,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วหักออกจากยอดหนี้แล้วลดดอกเบี้ยลงตามส่วน
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสี่ที่ขอให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของจำเลยทั้งสี่ในเรื่องที่ว่าพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 และฉบับลงวันที่ 28พฤษภาคม 2535 รวมทั้งประกาศของโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2539 ฉบับลงวันที่ 18 กันยายน2540 ฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2541 และฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม2541 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 หรือไม่ เป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย” และมาตรา 271 บัญญัติว่า “ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงเว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น” ดังนี้ ในการพิจารณาและวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือไม่ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะแต่ทั้งนี้ต้องเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน หากศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยมาแล้ว มาตรา 264วรรคสุดท้าย บัญญัติต่อไปว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว”ดังนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจยกขึ้นอ้างในคดีได้โดยไม่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีก
ในปัญหาที่จำเลยทั้งสี่มีความเห็นว่า พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยอัตราเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 หรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2542 ลงวันที่ 22 เมษายน 2542 ไว้แล้วว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540มาตรา 30 ส่วนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 และฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2535 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 4/2542 ลงวันที่ 1 เมษายน 2542 ว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม2536 เป็นการออกข้อกำหนดโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามที่พระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ มิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติจึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัยและเมื่อพิจารณาประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมพ.ศ. 2535 ฉบับลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 กับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 และฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม2535 ที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2540 ปรากฏว่า ทั้งประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวต่างออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ กล่าวคือประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นการออกข้อกำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 มาตรา 4ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ส่วนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นการออกข้อกำหนดโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 แต่ทั้งประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวมิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย สำหรับประกาศของโจทก์ เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2539ฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2540 ฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2541 และฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2541 ก็ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2542 ลงวันที่ 1 เมษายน 2542 ว่า ประกาศธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ที่ 3/2539 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2539 เป็นประกาศที่ออกโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ที่ออกโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522ประกาศของธนาคารไทยพาณิชย์ฉบับดังกล่าวจึงไม่ใช่ประกาศของทางราชการและไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ได้ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 38 ถึง 40/2542 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2542วินิจฉัยว่า ประกาศของโจทก์ดังกล่าวในคดีนี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับประกาศของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ 3/2539 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2539ประกาศของโจทก์จึงไม่ใช่ประกาศของทางราชการและไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ได้จึงเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วอีกด้วย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสี่ที่ขอให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของจำเลยทั้งสี่ไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชอบแล้ว”
พิพากษายืน