แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คู่ความท้ากันว่า ถ้าจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 จำเลยยอมแพ้ ข้อต่อสู้อื่น ๆ จำเลยสละทั้งหมด ถ้าจำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโจทก์ยอมแพ้ สำหรับค่าเสียหายหากโจทก์ชนะคดี จำเลยยอมให้เป็นไปตามฟ้อง ปรากฏว่ามาตรา63 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทใด นอกจากการเช่านาเป็นช่องทางให้เกิดการเอาเปรียบเกษตรกรผู้เช่าโดยไม่เป็นธรรมจนเกิดความเดือดร้อนและเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดให้การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว ก็ให้มีอำนาจกระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่ปรากฏว่าตั้งแต่ได้ตราพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้จนบัดนี้ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกมาใช้บังคับให้มีการควบคุมการประกอบเกษตรกรรมประเภทใด แสดงว่ากฎหมายดังกล่าวยังไม่ประสงค์ให้มีการควบคุมคุ้มครองการเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำ (ปลา) เหมือนกับการเช่านาเพื่อทำนาปลูกข้าวหรือพืชไร่ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 22 และมาตรา 26 จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 จำเลยต้องแพ้คดีตามคำท้า และแม้โจทก์ได้โอนที่พิพาทให้แก่จำเลยกับบุตรแล้วในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ยังต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นับแต่จำเลยไม่ยอมออกจากที่พิพาทจนถึงวันที่โจทก์โอนที่พิพาทดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4978 และ5992 ที่จำเลยเช่าและค้างค่าเช่าตลอดมา เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วโจทก์แจ้งให้ชำระค่าเช่าและออกจากที่พิพาท แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้จำเลยกับบริวารออกจากที่พิพาท และใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าที่ค้างพร้อมดอกเบี้ย กับค่าเสียหายอีกเท่ากับอัตราค่าเช่าต่อเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยกับบริวารจะออกไป และส่งมอบที่พิพาทคืนแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยเช่าที่พิพาทจากโจทก์เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ ครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วโจทก์ยังยินยอมให้จำเลยเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา การเช่าที่พิพาทเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์น้ำของจำเลยอยู่ภายใต้การควบคุมและคุ้มครองของพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 26ที่กำหนดให้มีระยะเวลาเช่า 6 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่าและฟ้องขับไล่ ทั้งจำเลยไม่ได้ค้างค่าเช่า ขอให้ยกฟ้องในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความท้ากันว่าถ้าจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 จำเลยยอมแพ้ ส่วนข้อต่อสู้อื่น ๆ จำเลยสละทั้งหมด ถ้าจำเลยได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ยอมแพ้สำหรับเรื่องค่าเสียหายหากโจทก์ชนะคดี จำเลยยอมให้เป็นไปตามฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่พิพาทและส่งมอบคืนให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยใช้เงินจำนวน31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 21สิงหาคม 2528 เป็นต้นไป กับให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์อีกเดือนละ1,500 บาท จนกว่าจำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทและส่งมอบที่พิพาทคืนแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่พิพาททั้งสองแปลง และจำเลยชำระราคาที่ดินให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายกับจำเลยอีก และต้องการให้เรื่องนี้จบสิ้นลงโดยเร็ว จึงขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีและลดหย่อนค่าเสียหายที่จะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายตามคำสั่งศาลอุทธรณ์แล้ว โจทก์รับว่าได้โอนขายที่พิพาททั้งสองแปลงให้บุตรชายจำเลยแล้ว โจทก์ไม่ติดใจขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาททั้งสองแปลง แต่เรื่องค่าเสียหายโจทก์ยังติดใจเรียกจากจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2529 ซึ่งเป็นวันโอนขายที่ดินให้แก่จำเลย และค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,500 บาทนับถัดจากวันฟ้องถึงวันโอนขายที่พิพาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2528ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2529 กับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์อีกเดือนละ1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2529 ส่วนให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทให้ยกเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเช่าที่พิพาทของโจทก์เลี้ยงปลาประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงสัตว์น้ำ หลังจากพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ออกมาใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 ได้บัญญัติเรื่องการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างอื่นไว้ในหมวด 3 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง ว่า “ในกรณีที่มีการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทใด นอกจากการเช่านาเป็นช่องทางให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรผู้เช่า โดยไม่เป็นธรรมจนเกิดความเดือดร้อนและเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดให้การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว ก็ให้มีอำนาจกระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา” ปรากฏว่าตั้งแต่ได้ตราพระราชบัญญัติ ดังกล่าวไว้จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกมาใช้บังคับให้มีการควบคุมการประกอบเกษตรกรรมประเภทใด แสดงว่ากฎหมายดังกล่าวยังไม่ประสงค์ให้มีการควบคุมคุ้มครองการเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำ (ปลา) เหมือนกับการเช่านาเพื่อทำนาปลูกข้าวหรือพืชไร่ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 22 และมาตรา 26 จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 และบทบัญญัติตามมาตรา 63 ดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยมีผลบังคับได้ จำเลยจึงต้องแพ้คดีตามคำท้าที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องชำระค่าเช่าเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เพราะโจทก์ได้โอนที่พิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นทรัพย์ประธานให้แก่จำเลยและบุตรจำเลยตามลำดับในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์แล้ว ค่าเช่าอันเป็นดอกผลของที่พิพาทต้องตกตามไปด้วย โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่พิพาทอีกต่อไป โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเนื่องจากจำเลยไม่ยอมออกจากที่พิพาทได้มีอยู่ตลอดมาจนกว่าโจทก์ได้โอนที่พิพาทให้แก่ผู้อื่นหรือจำเลยได้ออกไปจากที่พิพาทปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้โอนขายที่พิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยและบุตรจำเลยแล้ว แต่โจทก์ยังติดใจเรียกให้จำเลยใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2528 กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,500 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2529 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์โอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยและบุตรจำเลย ฉะนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงท้ากันว่าหากโจทก์ชนะคดี ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดแก่โจทก์ให้เป็นไปตามฟ้อง จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามคำท้าจนถึงวันที่โจทก์โอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยและบุตรจำเลยดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน