คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยพูดขู่เข็ญจะฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้หากไม่ปล่อยไม้ที่ยึด เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นการลงมือกระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เพราะผู้เสียหายไม่เกรงกลัวไม่ยินยอมปล่อยไม้ที่ยึด ผู้เสียหายจึงไม่ได้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ที่จำเลยข่มขืนใจ จำเลยจึง มีความผิดขั้นพยายามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139ประกอบมาตรา 80

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยข่มขืนใจนายมงคล พร้อมมูล ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ทำการตรวจยึดไม้สักแปรรูปที่ผู้กระทำผิดทิ้งไว้บริเวณที่เกิดเหตุ โดยพูดกับผู้เสียหายว่า “แก่แล้วให้ไปอยู่กับลูกกับเมียที่บ้านเสียอย่างนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้าไม่ปล่อยไม้ให้ระวังตัวเดี๋ยวจะโดนฆ่าให้ตาย” ซึ่งเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายหากไม่ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 และนับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 822/2535 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 771/2535 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 139 ลงโทษจำคุก 1 ปี คดีที่ขอให้นับโทษต่ออยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนอีกคดีหนึ่งศาลรอการลงโทษไว้จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 ประกอบมาตรา 80 ให้จำคุก 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 จำคุก 1 ปีศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 8 เดือนเป็นการแก้ทั้งบทกฎหมายและกำหนดโทษที่ลงโทษจำเลย เป็นการแก้ไขมากแต่ยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 จำเลยคงฎีกาได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้พูดกับผู้เสียหายว่า “หัวหน้ามงคลอายุมากแล้วน่าจะอยู่กับลูกเมีย หากไม่ให้ก็อยู่กันไม่ได้” และ “หากไม่ให้จะโดนฆ่า”ฟังได้ว่าจำเลยได้พูดจาข่มขู่ ผู้เสียหายให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในภายหลังแล้วปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยมีว่าการที่จำเลยพูดกับผู้เสียหายดังกล่าวแต่ผู้เสียหายไม่เกรงกลัวการกระทำของจำเลยเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดอันตรายหรือไม่ ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยพูดขู่เข็ญจะฆ่าผู้เสียหายหากไม่ปล่อยไม้ที่ยึดเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่เป็นการลงมือกระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เพราะผู้เสียหายไม่เกรงกลัวไม่ยินยอมปล่อยไม้ที่ยึด ผู้เสียหายจึงไม่ได้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามที่จำเลยข่มขืนใจ จำเลยจึงมีความผิดขั้นพยายาม”
พิพากษายืน

Share