คำร้องที่ขอให้บังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับให้ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3940/2563)
สุธาทิพย์ จุลมนต์ ทัศนชัยกุล[1]
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พรบ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 42 ซึ่งในการยื่นคำร้องดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพียงว่าศาลจะบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือไม่เท่านั้น โดยศาลอาจปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดหากมีเหตุตามที่บัญญัติไว้ใน พรบ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 43 และ 44 สำหรับคำร้องในส่วนที่ขอให้บังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับให้ได้ ดังนั้นการที่ผู้ร้องยื่นคำขอถอนคำร้องในส่วนที่ขอให้บังคับตามสัญญาจำนำหุ้นซึ่งไม่ได้อยู่ในคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเพื่อให้คงเหลือเฉพาะประเด็นการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 และขอถอนคำร้องในส่วนของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 6 ซึ่งไม่ได้ถูกบังคับตามคำชี้ขาด โดยเป็นการยื่นคำขอภายหลังจากผู้คัดค้านทั้งหกยื่นคำคัดค้าน และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ให้โอกาสแก่ฝ่ายผู้คัดค้านได้คัดค้านคำขอถอนคำร้อง กรณีไม่เป็นการทำให้ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 6 ต้องเสียเปรียบ ชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ร้องขอถอนคำร้องได้ตามบทบัญญัติแห่ง พรบ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง ได้
แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา
กุมภาพันธ์ 2565
[1]เลขานุการแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา