คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บิดามารดาโจทก์ทั้งหกแจ้งการเกิดของโจทก์ทั้งหกต่อสำนักงานกิจการญวนอพยพด้วยความสมัครใจมิได้ถูกผู้ใดบังคับให้ไปแจ้งและบิดาพาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไปทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพก็โดยเข้าใจเอาเองว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคนญวนอพยพโดยมิได้มีผู้ใดบังคับเช่นกัน ส่วนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีประกาศให้คนญวนอพยพไปแจ้งต่อสำนักงานกิจการญวนอพยพนั้น ก็เป็นประกาศที่มีลักษณะเป็นการทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่คำสั่งเฉพาะเจาะจงบังคับให้โจทก์ทั้งหกไปทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ เหตุที่มีชื่อโจทก์ทั้งหกในทะเบียนบ้านญวนอพยพก็เนื่องจากบิดาของโจทก์ทั้งหกไปแจ้งต่อนายทะเบียนบ้านญวนอพยพอุบลราชธานีจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์ทั้งหกเป็นคนญวนอพยพโดยเข้าใจเอาเองว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนญวนอพยพมิใช่เกิดจากการกระทำของผู้อำนวยการสำนักงาน 114 อุบลราชธานีจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ที่เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งหกในทะเบียนบ้านญวนอพยพโดยพลการ ทั้งโจทก์ทั้งหกก็ไม่เคยโต้แย้งต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าโจทก์ทั้งหกมิใช่คนญวนอพยพ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหกโจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นบุตรของนางสมจิตร รัตนูปการหรือนางกวี๋ เหวียน ซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยมีบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ทั้งหกเกิดในราชอาณาจักรไทย เมื่อโจทก์ทั้งหกเกิดมาปลัดกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนต่างด้าวประเภทคนญวนอพยพ และผู้อำนวยการสำนักงาน114 อุบลราชธานีจำเลยที่ 2 และนายทะเบียนบ้านญวนอพยพอุบลราชธานีจำเลยที่ 3 ร่วมกันเพิ่มชื่อโจทก์ทั้งหกลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพเลขที่ 553/8 ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนต่างด้าว อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันถอนชื่อโจทก์ทั้งหกออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพเลขที่ 553/8 ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี
ก่อนที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การ โจทก์บอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องขอพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งต้องร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือร้องขอต่อศาลไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีอำนาจให้สัญชาติบุคคลใดได้ โจทก์ทั้งหกไม่ได้เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานีหรือในราชอาณาจักรไทยจึงไม่ใช่ผู้มีสัญชาติไทยโจทก์ทั้งหกเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายง๊อก เหวียนซึ่งเป็นคนญวนอพยพ และนางกวี๋ เหวียน มารดาของโจทก์ก็เป็นคนญวนอพยพ โจทก์ทั้งหกจึงเป็นผู้มีสัญชาติญวนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งหกลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพแต่โจทก์ทั้งหกสมัครใจไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานีให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งหกลงในทะเบียนบ้านดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนญวน ไม่เคยทักท้วงเรื่องสัญชาติของโจทก์ทั้งหก และไม่เคยกระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันถอนชื่อโจทก์ทั้งหกออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ เลขที่ 553/8 ถนนสรรพสิทธิ์ อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหกหรือไม่ โจทก์ทั้งหกมีนางสมจิตร รัตนูปการ หรือ นางกวี๋ เหวียน มารดาโจทก์ทั้งหกเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 มีอายุครบ 13 ปีได้มีเจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการญวนอพยพมาที่บ้าน บอกให้โจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 ไปทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพโดยอ้างว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคนญวนอพยพ พยานเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคนญวนอพยพ บิดาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคนพาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไปทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ และมีนายง๊อก เหวียน บิดาโจทก์ทั้งหกเบิกความว่า ใน พ.ศ. 2514 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ประกาศให้ชาวญวนอพยพไปแจ้งต่อสำนักงานกิจการญวนอพยพพยานและนางสมจิตรจึงไปทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพตามที่ประกาศ แต่ขณะนั้นโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อายุไม่ถึง 12 ปี ไม่ครบเกณฑ์ที่จะต้องทำบัตรประจำตัวดังกล่าว พยานแจ้งการเกิดของโจทก์ทั้งหกต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการญวนอพยพ เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อายุครบ 12 ปี เจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการญวนอพยพแจ้งให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปทำบัตรประจำตัวดังกล่าว ก่อนฟ้องคดีนี้พยานกับโจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งต่อทางราชการว่าโจทก์ทั้งหกมิใช่คนญวนอพยพ เห็นว่าตามคำเบิกความของนางสมจิตรและนายง๊อกมารดาและบิดาโจทก์ทั้งหกดังกล่าวปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ทั้งหกแจ้งการเกิดของโจทก์ทั้งหกต่อสำนักงานกิจการญวนอพยพด้วยความสมัครใจมิได้ถูกผู้ใดบังคับให้ไปแจ้ง และนายง๊อกพาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไปทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพก็โดยเข้าใจเอาเองว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคนญวนอพยพโดยมิได้มีผู้ใดบังคับเช่นกันส่วนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีประกาศให้คนญวนอพยพไปแจ้งต่อสำนักงานกิจการญวนอพยพนั้นก็น่าจะเป็นประกาศที่มีลักษณะเป็นการประกาศทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่คำสั่งเฉพาะเจาะจงบังคับให้โจทก์ทั้งหกไปทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพเหตุที่มีชื่อโจทก์ทั้งหกในทะเบียนบ้านญวนอพยพก็เนื่องจากบิดาของโจทก์ทั้งหกไปแจ้งต่อจำเลยที่ 3ว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนญวนอพยพโดยเข้าใจเอาเองว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนญวนอพยพ มิใช่เกิดจากกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งหกในทะเบียนบ้านญวนอพยพโดยพลการ ทั้งโจทก์ทั้งหกก็ไม่เคยโต้แย้งต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าโจทก์ทั้งหกมิใช่คนญวนอพยพ คดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหก โจทก์ทั้งหกจึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งหกถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share