คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ทนายจำเลยทั้งสองสืบพยานจำเลยทั้งสองได้เพียงปากเดียวแล้วขอเลื่อนคดีถึง 2 ครั้งติด ๆ กัน กับยกเลิกวันนัดอีก 1 นัด ในการขอเลื่อนคดีทุกครั้ง ศาลชั้นต้นได้กำชับให้ทนายจำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบ แต่พอถึงวันนัดทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีอีกเป็นครั้งที่ 3 ด้วยเหตุผลเดิม ๆ ว่า พยานที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกไม่มาศาล ทั้ง ๆ ที่พยานดังกล่าวเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งควรจะนำมาศาลได้โดยง่าย พฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ให้ความสนใจและความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ทั้งตามคำแถลงขอเลื่อนคดีก็มิได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าหากไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทั้งสองจงใจประวิงคดีและไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีกับให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว
เอกสารเกี่ยวกับหลักฐานแสดงฐานะและทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองที่ระบุว่าจำเลยทั้งสองถือหุ้นอยู่ในบริษัทต่าง ๆ และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด มีมูลค่าพอชำระหนี้โจทก์ได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองเพิ่งนำมาแสดงหลังจากที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยทั้งสองแล้ว ไม่ต้องห้ามมิให้ศาลฎีการับฟัง เพราะ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 14 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งกำหนดให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ลูกหนี้อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ จำเลยทั้งสองจึงชอบที่จะเสนอพยานเอกสารต่อศาลเพื่อให้ความจริงปรากฏได้ อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองไม่ได้แสดงถึงงบการเงินเพื่อให้เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ ที่จำเลยถือหุ้นอยู่มีผลประกอบการเป็นอย่างไร และหุ้นต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองถืออยู่มีมูลค่าที่แท้จริงเป็นเงินตามจำนวนที่ระบุไว้หรือไม่ และยังได้ความตามหนังสือรับรองของบริษัทต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองถือหุ้นอยู่ว่าขาดส่งงบการเงินปี 2542 รวม 10 บริษัท นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทร้าง 1 บริษัท ส่วนห้องชุดที่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์มีภาระจำนองอีกด้วย ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองอ้างมา จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีมูลค่าเพียงพอชำระหนี้ได้ทั้งหมด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนี้ตามฟ้องไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน จำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ไม่ได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองชอบหรือไม่ เห็นว่า คู่ความจะขอเลื่อนคดีติดต่อกันได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่ง พฤติการณ์แห่งคดีได้ความว่า เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานจำเลยทั้งสองนัดแรกเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2544 และนัดต่อไปวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันนัดทนายจำเลยทั้งสองนำพยานเข้าสืบ 1 ปาก แล้วแถลงขอเลื่อนคดีไปในนัดต่อไปตามที่นัดไว้เดิม ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้นัดสืบพยานจำเลยทั้งสองไว้ล่วงหน้าอีกในวันที่ 5 เมษายน และ 15 พฤษภาคม 2544 เวลา 13 นาฬิกา ทั้งสามนัด โดยกำชับให้ทนายจำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบ ถึงวันนัดทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยทั้งสองในนัดต่อไปตามที่ได้นัดไว้เดิม โดยกำชับให้ทนายจำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบ ถึงวันนัดต่อไปทนายจำเลยทั้งสองแถลงขอเลื่อนคดีอ้างเหตุส่งหมายเรียกให้พยานไม่ได้ ทนายจำเลยทั้งสองติดใจสืบพยานอีกประมาณ 5 ปาก และขอยกเลิกนัดต่อไปวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 เวลา 13 นาฬิกา เพราะเกรงว่าจะขอหมายเรียกพยานไม่ทัน ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยทั้งสองในวันที่ 15 พฤษภาคม ตามที่นัดไว้เดิม กับนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองไว้ล่วงหน้าอีกในวันที่ 4 กรกฎาคม 2544 เวลา 13 นาฬิกา โดยกำชับให้ทนายจำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบ อย่าขอเลื่อนคดี หากกรณีเป็นพยานหมาย ให้ขอหมายเรียกเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้พยานมาพร้อมในวันนัด เมื่อถึงวันนัดต่อไปวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ทนายจำเลยทั้งสองแถลงขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่าขอให้ศาลหมายเรียกพยานซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 มาศาล 2 ปาก แต่พยานไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง โจทก์แถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดี ส่อแสดงว่ามีเจตนาประวิงคดีให้ชักช้าไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง ยกเลิกวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองที่เหลือ โดยให้นัดฟังคำพิพากษา เห็นได้ว่าคดีนี้ทนายจำเลยทั้งสองสามารถสืบพยานจำเลยทั้งสองได้เพียงปากเดียว แล้วขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยทั้งสองถึง 2 ครั้งติด ๆ กัน กับยกเลิกวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองอีก 1 นัด ในการขอเลื่อนคดีทุกครั้ง ศาลชั้นต้นได้กำชับให้ทนายจำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบ แต่เมื่อถึงวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองในวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีเป็นครั้งที่ 3 ด้วยเหตุผลเดิม ๆ ทั้ง ๆ ที่ทราบคำกำชับของศาลชั้นต้นแล้วและพยานทั้งสองปากที่จำเลยทั้งสองขอให้ศาลออกหมายเรียกให้มาเบิกความต่อศาลแต่พยานไม่มาศาลนั้น เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งควรจะนำพยานดังกล่าวมาศาลได้โดยง่ายด้วยซ้ำไป ทั้งโจทก์ก็ได้แถลงคัดค้านว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดีให้ชักช้า พฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ให้ความสนใจและความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นแม้แต่น้อย และตามคำแถลงขอเลื่อนคดีทนายจำเลยทั้งสองก็มิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลชั้นต้นว่า หากไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรม แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวส่อแสดงว่ามีเจตนาหน่วงเหนี่ยวให้คดีล่าช้าโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทั้งสองจงใจประวิงคดีและไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีกับให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองที่เหลือจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในคดีหมายเลขแดงที่ 23099/2539 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 25,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 27,000,000 บาท และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,860,821.99 บาท และจำนวน 9,645,619.03 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงิน 15,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จและในคดีหมายเลขแดงที่ 13204/2540 จำนวน 24,173,662.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทรัพย์สินที่จำนองตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 23099/2539 ได้แก่ เครื่องจักร 16 เครื่อง เป็นของบริษัทข้าวคุณภาพไทย จำกัด ส่วนห้องชุดเลขที่ 21/75 ชื่ออาคารชุดสังสิทธิคอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 2 มีราคาประมาณ 3,000,000 บาท หุ้นที่จำเลยที่ 1 ถืออยู่ในบริษัทดาราเหนือ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจำนำเป็นประกันหนี้ไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) ไม่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัทนมไทยเดนมาร์ค จำกัด ที่จำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ก็ได้หยุดกิจการชั่วคราว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินอื่น ๆ อีก ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 11 และ 12 มิถุนายน 2544 ซึ่งจำเลยทั้งสองขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองและอนุญาตให้จำเลยทั้งสองนำพยานเข้าสืบต่อไป โดยได้แนบเอกสารเกี่ยวกับหลักฐานแสดงฐานะและทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ในบริษัทนมพัฒนา จำกัด คิดเป็นเงิน 150,000,000 บาท บริษัทดาราเหนืออินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คิดเป็นเงิน 187,499,950 บาท และบริษัทนมไทย – เดนมาร์ค จำกัด คิดเป็นเงิน 98,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 21/66, 21/75 และ 21/70 ชื่ออาคารชุดสังสิทธิคอนโดมิเนียม กับถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ รวม 13 บริษัท คิดเป็นเงินประมาณ 250,000,000 บาท มีมูลค่าพอชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาดังกล่าวได้นั้น เห็นว่า แม้เอกสารแนบท้ายคำร้องฉบับลงวันที่ 11 และ 12 มิถุนายน 2544 ดังกล่าว จำเลยทั้งสองเพิ่งนำมาแสดงหลังจากที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยทั้งสองแล้ว ก็ไม่ต้องห้ามมิให้ศาลฎีการับฟังเพราะพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งกำหนดให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ลูกหนี้อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 จำเลยทั้งสองจึงชอบที่จะเสนอพยานเอกสารดังกล่าวต่อศาลเพื่อให้ความจริงปรากฏได้ แต่อย่างไรก็ตามนอกจากจำเลยทั้งสองจะไม่ได้แสดงถึงงบการเงินเพื่อให้เห็นว่าปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองถือหุ้นอยู่มีผลประกอบการเป็นอย่างไร และหุ้นต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองถืออยู่มีมูลค่าที่แท้จริงเป็นเงินตามจำนวนที่ระบุไว้หรือไม่ เพราะหากบริษัทต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองถือหุ้นอยู่ประสบภาวะขาดทุน มูลค่าหุ้นที่แท้จริงอาจจะมีราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ ยังได้ความตามหนังสือรับรองของบริษัทต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองถือหุ้นดังกล่าวว่า บริษัทดังกล่าวขาดส่งงบการเงินปี 2542 รวม 10 บริษัท นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง 1 บริษัท และเพียง 2 บริษัทที่ส่งงบการเงินปี 2542 แต่ผู้สอบบัญชีถูกเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนห้องชุดเลขที่ 21/66 และ 21/70 ก็น่าจะมีราคาประมาณห้องละ 3,000,000 บาท เช่นเดียวกับห้องชุดเลขที่ 21/75 ทั้งห้องชุดเลขที่ 21/66 ยังมีภาระจำนองอีกด้วย ทรัพย์สินต่าง ๆ ของจำเลยทั้งสองที่อ้างมาจึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีมูลค่าเพียงพอชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองได้ทั้งหมด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องตามกันมาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสอง เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน

Share