แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์กับโจทก์และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฉบับดังกล่าว จำเลยก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่า ความจริงเป็นการทำสัญญากู้เงินกัน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง เพราะเป็นการนำสืบว่า สัญญาซื้อขายนั้นเป็นนิติกรรมอำพราง ต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญากู้เงิน
การที่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินและให้ปากคำว่าต้องการซื้อขายกันจริงโดยยินยอมเสียค่าธรรมเนียมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามระเบียบ เป็นการยืนยันเจตนาแท้จริงของจำเลยที่ต้องการขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ต้องการขายที่ดินพิพาทให้โจทก์จริงดังจำเลยอ้าง ก็น่าจะทำสัญญาจะซื้อขายกันไว้เป็นหลักฐานก็พอ ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3403/202 เล่ม 11 หน้า 156 หมู่ที่ 9 ตำบลหมากแข้ง (หนองบัว) อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ 1 งาน 8 ตารางวา พร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ให้แก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะโอน ทางทะเบียนและส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3403/202 เล่ม 11 หน้า 156 หมู่ที่ 9 ตำบลหมากแข้ง (หนองบัว) อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ 1 งาน 18 ตารางวา (ที่ถูก 8 ตารางวา) และส่งมอบการครอบครองให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยใช้เงินเดือนละ 500 บาท นับแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2540 จนกว่าจำเลยจะโอนและส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3403/202 ให้แก่โจทก์ ในราคา 50,000 บาท และรับเงินไปจากโจทก์แล้ว จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินประกาศการซื้อขายตามระเบียบเป็นเวลา 30 วัน ครบกำหนดตามประกาศไม่มีผู้ใดคัดค้าน จำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาอำพรางการกู้เงินหรือไม่นั้น ในประการแรกเห็นควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ก่อนว่า เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาอำพรางการกู้เงิน เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จำเลยจะได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์กันไว้ และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้วก็ตาม จำเลยก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่า ความจริงเป็นการทำสัญญากู้เงินกัน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง เพราะเป็นการนำสืบ สัญญาซื้อขายนั้นเป็นนิติกรรมอำพราง ต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญากู้เงิน ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินหรือไม่ จำเลยอ้างว่าจำเลยต้องการกู้เงินจากโจทก์ และจำนองที่ดินพิพาทไว้เป็นประกัน แต่โจทก์ต้องการให้ทำสัญญาซื้อขายจึงจะยอมให้เงินจำเลย จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ เห็นว่า หากจำเลยไม่ต้องการขายที่ดินพิพาทให้โจทก์จริงดังจำเลยอ้างก็น่าจะทำสัญญาจะซื้อขายกันไว้เป็นหลักฐานก็พอ แต่จำเลยกลับไปยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินและให้ปากคำว่าต้องการซื้อขายกันจริง โดยยินยอมเสียค่าธรรมเนียมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามระเบียบ เป็นการยืนยันเจตนาแท้จริงของจำเลยที่ต้องการขายที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนให้เชื่อได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยอ้างว่า จำเลยกับโจทก์ไม่มีเจตนาซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริงเป็นการทำนิติกรรมอำพรางการทำสัญญากู้เงิน พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น