แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า คำขอดังกล่าวอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น ก่อนที่จะไต่สวนหรือมีคำสั่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะให้โอกาสโจทก์คัดค้านก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) โดยมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องเช่นว่านั้นแก่โจทก์ล่วงหน้า หากจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาภายในเวลาที่กำหนด การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพียงแต่หมายแจ้งวันนัดพร้อมไปยังโจทก์จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องดังกล่าวของจำเลยได้ทันเพราะเพิ่งได้รับสำเนาคำร้องในวันนั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้วได้ความว่า ไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการพิจารณาคดี
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ในฐานะผู้เช่าเรือกับจำเลยในฐานะเจ้าของเรือตกลงกันว่าผู้ขนส่งจะสำรองพื้นที่ว่างบนเรือ และผู้ส่ง/ผู้เช่าเรือจะบรรทุกสินค้าน้ำตาลทรายดิบไม่บรรจุกระสอบลงเรือ ณ ท่าเรือจำนวนสองในสี่ท่าเรือในประเทศไทย แล้วขนส่งไปยังท่าเรือหนึ่งในสามท่าเรือในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยมีข้อตกลงข้อหนึ่งว่า หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างขนถ่ายและบรรทุกสินค้าหรือขึ้นจากเรือเร็วหรือช้ากว่ากำหนดตามข้อตกลง ณ ท่าเรือในประเทศไทยและหรือในสาธารณรัฐประชาชนจีน โจทก์จะได้รับชำระเงินจากจำเลยหรือจ่ายเงินให้จำเลยจำนวน 8,000 ดอลลาห์สหรัฐ และ 4,000 ดอลลาห์สหรัฐ ต่อวัน หรือตามอัตราส่วน ปรากฏว่าโจทก์ขนถ่ายและบรรทุกสินค้าเร็วกว่ากำหนด ทั้งที่ท่าเรือในประเทศไทยและที่ท่าเรือในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำเลยจึงต้องชำระเงินให้โจทก์รวม 29,196.80 ดอลลาห์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,181,330.08 บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ในวันยื่นคำให้การ จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์กับจำเลยตกลงกันให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ โดยให้ใช้อนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสิงคโปร์และกฎหมายของประเทศสิงคโปร์บังคับ แต่โจทก์กลับนำคดีนี้มาฟ้องศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดตามสัญญาที่มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสอบคู่ความในวันนัดพร้อมแล้ว มีคำสั่งให้จำหน่ายคดี คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 จำเลยยื่นคำให้การ บัญชีระบุพยานพร้อมกับคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เนื่องจากสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า “สำเนาให้โจทก์ รอไว้มีคำสั่งในวันนัดพร้อม” โดยได้ออกหมายนัดพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางในการพิจารณาคดีส่งไปให้แก่โจทก์พร้อมกับสำเนาคำให้การและบัญชีระบุพยาน แต่มิได้แนบสำเนาคำร้องของจำเลยที่ขอให้จำหน่ายคดีดังกล่าวไปด้วย ครั้นถึงวันนัดพร้อมในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่า ทนายโจทก์ลงลายมือชื่อรับสำเนาคำร้องของจำเลยที่ขอให้จำหน่ายคดีดังกล่าวในวันนั้นและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจดรายงานกระบวนพิจารณาเพียงว่า “เกี่ยวกับคำร้องของจำเลยลงวันที่ 15 มีนาคม 2549 ที่ว่าสำเนาบันทึกสิ่งที่กำหนดแน่นอน ข้อ 19 กำหนดว่า ให้ใช้อนุญาโตตุลาการแห่งสิงคโปร์และกฎหมายสิงคโปร์มาใช้บังคับ โจทก์และจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงนี้ จึงให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความเพื่อให้คู่ความนำข้อพิพาทไปให้อนุญาโตตุลาการแห่งสิงคโปร์และกฎหมายสิงคโปร์มาบังคับใช้ตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า” เห็นว่า คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าคำขอดังกล่าวอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น ก่อนที่จะไต่สวนหรือมีคำสั่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะให้โอกาสโจทก์คัดค้านก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) โดยมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องเช่นว่านั้นแก่โจทก์ล่วงหน้า หากจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาภายในเวลาที่กำหนด การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพียงแต่หมายแจ้งวันนัดพร้อมไปยังโจทก์ จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องดังกล่าวของจำเลยได้ทัน เพราะเพิ่งได้รับสำเนาคำร้องในวันนั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้วได้ความว่าไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการพิจารณาคดี ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรให้เพิกถอนการพิจารณาที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว”
พิพากษายกคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคำร้องขอให้จำหน่ายคดีของจำเลยเสียใหม่โดยกำหนดเวลาเพื่อให้โจทก์มีโอกาสคัดค้านคำร้องของจำเลยดังกล่าว แล้วทำการไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ