คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2984/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่ออธิบดีกรมแรงงานมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของจำเลย และให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนแล้ว จำเลยหาได้นำคดีไปสู่ศาลไม่ คำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานจึงเป็นที่สุด จำเลยจะดำเนินการใด ๆ ในศาลแรงงานอีกไม่ได้รวมทั้งให้การต่อสู้คดี ทั้งนี้โดยต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 8 วรรคท้าย เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน จำเลยจึงไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายความรวมถึงพนักงานเงินทดแทนกระทำโดยปราศจากอำนาจด้วย

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนที่ 4/2526 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2526 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 24,570 บาท รวมกับเงินซึ่งจะต้องชำระเป็นรายเดือนคิดถึงวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดนับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยด้วยว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหรือไม่ และผู้ตายเป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ แต่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า นายวัลลภ เทียมเจริญประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน โจทก์ทั้งสี่ซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ได้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากจำเลยต่อพนักงานเงินทดแทน พนักงานเงินทดแทนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่ ปรากฏตามคำสั่งที่ 4/2526 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2526 เอกสารหมาย จ.2 จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีกรมแรงงาน อธิบดีกรมแรงงานสั่งยกอุทธรณ์ของจำเลยและให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยมิได้นำคดีไปสู่ศาล ต่อมาจำเลยไม่จ่ายเงินทดแทนโจทก์ทั้งสี่จึงฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน

เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากจำเลยต่อพนักงานเงินทดแทน การดำเนินการต่าง ๆ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานกรณีที่จำเลยไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนซึ่งสั่งให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่และจำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีกรมแรงงานแล้วเมื่ออธิบดีกรมแรงงานมีคำสั่งประการใด หากจำเลยไม่เห็นชอบด้วยจำเลยต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 60 กล่าวคือ ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง มิฉะนั้นคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานเป็นที่สุด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่ออธิบดีกรมแรงงานมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของจำเลยและให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนแล้ว จำเลยหาได้นำคดีไปสู่ศาลไม่ คำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานจึงเป็นที่สุด จำเลยจะดำเนินการใด ๆ ในศาลแรงงานอีกไม่ได้รวมทั้งให้การต่อสู้คดีทั้งนี้โดยต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้าย ฉะนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่นำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะต่อสู้ว่าคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมทั้งไม่มีสิทธิที่กล่าวอ้างว่า โจทก์ทั้งสี่มิได้เป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหรือผู้ตายมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางไม่วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พนักงานเงินทดแทนมีอำนาจเพียงที่จะชี้ขาดว่า จำนวนเงินทดแทนควรจะเป็นเท่าใด ไม่มีอำนาจที่ก้าวล่วงไปวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นนายจ้างของผู้ตายหรือไม่ ฉะนั้น การที่พนักงานเงินทดแทนวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นนายจ้างของผู้ตาย จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยมุ่งหมายที่คัดค้านว่า คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง เมื่อศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการของกฎหมาย ไม่มีสิทธิที่จะต่อสู้คดีในศาลแรงงานว่าคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมหมายความรวมถึงไม่มีสิทธิที่จะกล่าวอ้างด้วยว่า พนักงานเงินทดแทนกระทำโดยปราศจากอำนาจ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนนั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share