คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4215/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 69 วรรคสาม เป็นบทลงโทษที่ขยายความมาจากมาตรา 69 วรรคสอง โดยแยกความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เฉพาะมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีน ที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องลงโทษตามวรรคสาม แต่หากเป็นกรณีมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีนที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่าหนึ่งร้อยกรัมขึ้นไป ก็ลงโทษตามวรรคสี่ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 ต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสอง ยกเว้นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เฉพาะมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีน ที่มีปริมาณดังกล่าวต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสาม หรือวรรคสี่แล้วแต่กรณี
ยาเสพติดให้โทษที่เป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นฝิ่นแม้จะไม่ปรากฏว่าฝิ่นของกลางมีปริมาณคำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด แต่ก็ปรากฏว่าฝิ่นของกลางทั้ง 14 ห่อ มีน้ำหนัก 25.19 กรัม การมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งฝิ่นจำนวน 14 ห่อก็ดี การจำหน่ายฝิ่นจำนวน 2 ห่อก็ดี ต้องถือว่าฝิ่นทั้งสองจำนวนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม การมีไว้ในครอบครองจึงเป็นความผิดและต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสาม ส่วนการจำหน่ายฝิ่นก็เป็นความผิดและต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสาม เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยมีฝิ่นซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จำนวน 14 ห่อ น้ำหนัก 25.19 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และแบ่งจำหน่ายแก่สายลับไป 2 ห่อ น้ำหนักไม่ปรากฏชัด ในราคา 200 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 17, 69 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง 69 วรรคสองและวรรคสาม (ที่ถูกมาตรา 69 วรรคสาม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายฝิ่น จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า จำเลยมีฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จำนวน 14 ห่อ น้ำหนัก 25.19 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายฝิ่นดังกล่าวไปจำนวน 2 ห่อ ให้แก่สายลับมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเรียงกระทงลงโทษโดยมิได้กำหนดบทมาตราของแต่ละกระทงความผิดลงไปด้วย และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็วินิจฉัยเพียงว่าความผิดฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายฝิ่นตามฟ้องมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 69 วรรคสาม เท่ากันทั้งสองฐาน โดยมิได้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทำให้จำเลยไม่ทราบว่าจำเลยถูกลงโทษจำคุก 5 ปี และ 3 ปี ตามมาตรา 69 วรรคสอง หรือวรรคสาม ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 69 วรรคสาม นั้น เป็นบทลงโทษที่ขยายความมาจากบทบัญญัติในมาตรา 69 วรรคสอง โดยแยกความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เฉพาะมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีน ที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องลงโทษตามวรรคสาม แต่หากเป็นกรณีมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีนที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่าหนึ่งร้อยกรัมขึ้นไป ก็ลงโทษตามวรรคสี่ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 ต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสอง ยกเว้นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เฉพาะมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีน ต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสาม หรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี สำหรับคดีนี้ ยาเสพติดให้โทษที่เป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นฝิ่น แม้จะไม่ปรากฏว่าฝิ่นของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใดแต่ก็ปรากฏว่าฝิ่นของกลางทั้ง 14 ห่อ มีน้ำหนัก 25.19 กรัม การมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งฝิ่นจำนวน 14 ห่อ ก็ดี การจำหน่ายฝิ่นจำนวน 2 ห่อก็ดี ต้องถือว่าฝิ่นทั้งสองจำนวนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม การมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จึงเป็นความผิดและต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสาม ส่วนการจำหน่ายฝิ่นก็เป็นความผิดและต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสาม เช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งฝิ่น จำคุก 5 ปี และฐานจำหน่ายฝิ่นจำคุก 3 ปี ตามมาตรา 69 วรรคสาม จึงชัดเจนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปว่า ศาลล่างทั้งสองวางโทษก่อนลดในความผิดฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี หนักเกินสมควรหรือไม่ เห็นว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 20 ให้ยกเลิกความในมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยข้อความในมาตรา 69 วรรคสาม ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มีบทกำหนดโทษแตกต่างจากกฎหมายเดิมและมีลักษณะเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยในการกระทำความผิดทั้งสองข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อพิเคราะห์ถึงฝิ่นของกลางว่ามีน้ำหนักเพียง 25.19 กรัม โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าน้ำหนัก 25.19 กรัม คือปริมาณสารบริสุทธิ์ของฝิ่น จึงสมควรลงโทษจำเลยในอัตราโทษขั้นต่ำสุดที่กฎหมายบัญญัติ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนความผิดฐานจำหน่ายฝิ่นตามมาตรา 69 วรรคสาม นั้น โทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยนั้นเป็นโทษขั้นต่ำตามมาตรา 69 วรรคสาม ของกฎหมายที่แก้ไขใหม่อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุต้องแก้ไขกำหนดโทษจำคุกของจำเลยแต่อย่างใด”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) เฉพาะฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานจำหน่ายฝิ่นแล้วเป็นจำคุก 6 ปี โทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share