คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้โจทก์ออกจากงานซึ่งเป็นการไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ โดยถืออัตราค่าจ้างก่อนโจทก์ถูกเลิกจ้างมาเป็นการคำนวณค่าเสียหายการจะใช้คำว่าค่าจ้างหรือค่าเสียหายไขว้เขวไป ไม่ทำให้อายุความ 10 ปีเรื่องจำเลยผิดสัญญาจ้างเปลี่ยนแปลงไปเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
การฟ้องผิดตัวจำเลยเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ถ้าศาลเห็นสมควรก็ยกขึ้นเองได้
ศาลมีอำนาจคำนวณค่าเสียหายให้ได้ตามที่เห็นสมควรอุทธรณ์ของโจทก์โต้เถียงวิธีคิดค่าเสียหายซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 44,469 บาท และโจทก์ที่ 2 60,423 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์อื่นและโจทก์ร่วมแต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ โจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “อุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความเพราะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายแก่โจทก์เสมือนมิได้เลิกจ้าง มิใช่ค่าเสียหาย จึงมีอายุความ 2 ปี หรือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ มีอายุความ 1 ปี ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าจ้างหมายความว่า เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน จำเลยให้โจทก์ออกจากงานซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้าง โจทก์มิได้ทำงาน โจทก์จึงไม่ได้ค่าจ้าง ทำให้โจทก์ต้องเสียหายจำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าเสียหายให้โจทก์ โดยถืออัตราค่าจ้างก่อนโจทก์ถูกเลิกจ้างมาเป็นการคำนวณค่าเสียหาย การจะใช้คำว่าค่าจ้างหรือค่าเสียหายไขว้เขวไป ก็มิได้ทำให้อายุความเปลี่ยนแปลงไป ต้องถือตามความจริงว่าเงินนั้นเป็นเงินอะไร เมื่อเป็นเงินค่าเสียหายซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้ ก็ต้องมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 และการกระทำของจำเลยเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้าง มิใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์อันมีอายุความ 1 ปี คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางคิดค่าเสียหายโดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างไม่ตรงตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คือให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายแก่โจทก์ โดยให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งภายใน 7 วันนับแต่วันได้รับคำสั่ง ซึ่งหมายความว่าค่าจ้างที่จำเลยจะจ่ายให้โจทก์นั้นคือนับแต่วันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างถึงวันที่จำเลยได้รับคำสั่งบวกอีก 7 วัน มิใช่ว่าโจทก์จะมารายงานเมื่อไร จำเลยก็ต้องจ่ายค่าเสียหายจนถึงวันที่โจทก์รายงานตัว ศาลฎีกาเห็นว่ามิใช่โจทก์ประสงค์จะรายงานตัวเมื่อไรก็ได้ ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทราบคำสั่งและไปรายงานตัวขอกลับเข้าทำงานแล้ว จำเลยไม่เปิดโอกาสให้โจทก์เข้ารายงานตัวอันเป็นความผิดของจำเลยเอง จนโจทก์ต้องไปรายงานต่อกรรมการแรงงานสัมพันธ์คนหนึ่ง ต่อมาโจทก์ไปรายงานตัวเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2523 จำเลยจึงต้องรับผิดในระยะเวลาที่จำเลยไม่ยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงาน

โจทก์อุทธรณ์ว่า นางสาวอำพัน ใจชอบ นางสาวสมาน อินทร์เรืองศรี และนายอัญชัน โนรี โจทก์ เป็นลูกจ้างของบริษัทไทยซินเทติก เท็กซ์ไทล์ จำกัด มิใช่ลูกจ้างบริษัทจำเลย แต่บริษัทไทยซินเทติก เท็กซ์ไทล์ จำกัด กับบริษัทจำเลยเป็นบริษัทอยู่ในเครือเดียวกันกรรมการบริษัทชุดเดียวกัน มีสถานที่ทำงานในบริเวณเดียวกัน จำเลยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งสองมิใช่ลูกจ้างจำเลย ศาลแรงงานกลางยกขึ้นเป็นเหตุยกฟ้องไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่า บริษัทไทยซินเทติก เท็กซ์ไทล์ จำกัด กับบริษัทจำเลยเป็นนิติบุคคลแยกจากกัน ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฟ้องผิดตัวบุคคล ไม่ผิดอะไรกับการที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้บุคคลคนหนึ่ง แต่โจทก์กลับไปฟ้องบุคคลอีกคนหนึ่งให้ชำระหนี้ ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นใดก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ก็ตาม ถ้าศาลเห็นสมควรก็ย่อมยกขึ้นเองได้ ที่ศาลแรงงานกลางยกปัญหานี้ขึ้นและวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์อุทธรณ์อีกว่า การคำนวณค่าเสียหายต้องคำนวณจากอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้ายและเปลี่ยนแปลงไปตามค่าจ้างขั้นต่ำของทุกปี รวมทั้งค่าครองชีพด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า การคำนวณค่าเสียหายนั้น ศาลมีอำนาจคำนวณให้ตามที่ศาลเห็นสมควร อุทธรณ์ของโจทก์โต้เถียงถึงวิธีคิดค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จำเลยดังกล่าวมาแล้วข้างต้นทุกข้อฟังไม่ขึ้น

ส่วนอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของจำเลยมีว่า ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อน วันหยุดตามประเพณีด้วย ไม่ชอบศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ 6 วัน วันทำงานสัปดาห์ละ 6 วันนั้น มีวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างรวมอยู่ด้วยแล้ว โจทก์ไม่ได้ทำงาน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตอบแทนในการทำงานวันหยุดเป็นสองเท่า โจทก์คงมีสิทธิเพียงได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ 6 วันเท่านั้น จะรวมเอาวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนรวมเข้าไปเพื่อคิดค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าไม่ได้ โจทก์มีสิทธิได้ค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2519 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2523 ซึ่งศาลแรงงานกลางนับจำนวนวันได้ 1,458 วันนั้น ไม่ถูกต้องจำนวนค่าเสียหายของนายสมบัติ สุขปลื้ม และนางสาวฉลวย ศรีลือแสง จึงไม่ถูกต้อง

พิพากษาแก้ เป็นให้ยกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางบางส่วนเฉพาะประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่จะต้องจ่ายให้แก่นายสมบัติ สุขปลื้มและนางสาวฉลวย ศรีลือแสง โดยให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่ในประเด็นข้อนี้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”

Share