คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2982/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 นั้น กฎหมายมิได้มีความหมายเคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมอยู่ในหนังสือนั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีใจความว่าจำเลยเป็นหนี้เงินโจทก์จำนวน 19,780 บาท จำเลยรับจะชดใช้เงินให้แก่โจทก์กับมีลายมือชื่อจำเลยในฐานะลูกหนี้ลงไว้มาแสดงและมีพยานบุคคลมาสืบประกอบอธิบายได้ว่าหนี้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินจำนวนเท่าใด จากการซื้อสินค้าเชื่อจำนวนเท่าใดก็ถือได้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและภริยาเป็นหนี้กู้ยืมและเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อประเภทอุปโภคและบริโภคไปจากโจทก์ ต่อมาโจทก์จำเลยได้เจรจาเรื่องหนี้สินกันที่สถานีตำรวจ ผลการเจรจาจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่ทั้งสิ้น 19,780 บาท และตกลงจะชำระหนี้แก่โจทก์ได้บันทึกข้อตกลงไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและโจทก์จำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ จำเลยได้ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ดังกล่าวแก่โจทก์เพียง 500 บาท หลังจากนั้นไม่ยอมชำระให้อีก ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อจากโจทก์ โจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือมาแสดงว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปเท่าใด ซื้อสินค้าเชื่อไปเท่าใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้กู้เงินโจทก์ครั้งแรกจำนวน 5,000 บาท และครั้งที่สองจำนวน 1,500 บาท และโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้เป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยเป็นสำคัญในการฟ้องร้องนั้น เห็นว่า สำหรับหนี้เงินกู้ครั้งแรกนั้น โจทก์นำสืบรับว่าจำเลยและภริยาจำเลยกู้เงินโจทก์ไป โดยมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือให้แก่โจทก์ไว้ จึงเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์จะอาศัยหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีใจความว่าโจทก์จำเลยได้พากันมาที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าจำเลยเป็นหนี้เงินสดจำนวน 19,780 บาท จำเลยรับว่าจะชดใช้เงินให้แก่โจทก์โดยยังไม่ได้กำหนดเวลา กับมีลายมือชื่อจำเลยลงไว้ในฐานะลูกหนี้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้หรือไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ คำว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือนั้นกฎหมายมิได้มีความหมายเคร่งครัดถึงกับว่า จะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมอยู่ในหนังสือนั้นไม่ เมื่อโจทก์มีหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีใจความว่าจำเลยเป็นหนี้เงินโจทก์จำนวน 19,780 บาท จำเลยรับจะชดใช้เงินให้แก่โจทก์ กับมีลายมือชื่อจำเลยในฐานะลูกหนี้ลงไว้มาแสดงและมีพยานบุคคลมาสืบประกอบอธิบายได้ว่าหนี้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินจำนวนเท่าใด จากการซื้อสินค้าเชื่อจำนวนเท่าใด ก็ถือได้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 บัญญัติไว้แล้ว”
พิพากษายืน

Share