คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสามีโจทก์ตาย ที่ดินไม่มีโฉนดของสามีโจทก์ตกทอดมาเป็นของโจทก์ตามกฎหมาย แม้โจทก์จะครอบครองแต่ผู้เดียวมาไม่ถึง 10 ปี และมิได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโจทก์ก็ยังมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์ผู้เดียว และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องได้
แม้ที่พิพาทจะไม่มีโฉนดแต่โจทก์ยกให้จำเลยโดยไม่ได้ทำหนังสือและจดทะเบียนฯและมิได้สละสิทธิครอบครองไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิ
การแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ไม่ใช่นิติกรรมการได้มาซึ่งที่ดินและการแจ้งการครอบครองร่วมกับเจ้าของที่ดินจะถือว่าได้สิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินก็ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และสามีโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินรายพิพาทซึ่งไม่มีโฉนด เมื่อ 8 ปีมาแล้ว สามีโจทก์ตาย ที่พิพาทกับเรือนในที่ตกได้แก่โจทก์ผู้เดียว โจทก์ครอบครองตลอดมา โจทก์ให้จำเลยไปแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) จำเลยเซ็นชื่อร่วมลงในช่องเจ้าของที่ดินซึ่งโจทก์เซ็นให้ แล้วไปแจ้งว่าจำเลยครอบครอง และพยายามแย่งการครอบครอง ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ผู้เดียวเป็นเจ้าของที่พิพาทห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง

จำเลยให้การว่า โจทก์ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างโดยสมบูรณ์ ไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ได้ยกที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยแล้ว โดยให้จำเลยลงชื่อร่วมด้วยในใบแจ้งการครอบครอง

คู่ความแถลงไม่ติดใจสืบพยาน แต่ตั้งประเด็นข้อกฎหมาย 2 ข้อ ให้ศาลชี้ขาด คือ 1.ทรัพย์รายพิพาทเป็นของสามีโจทก์ สามีโจทก์ตายแล้วราว 8 ปี โจทก์ครอบครองทรัพย์พิพาทมาแต่ผู้เดียว โจทก์มิได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ 2.การที่โจทก์ยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์รายพิพาทให้จำเลย โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จะใช้ได้หรือไม่

ศาลชั้นต้นชี้ขาดประเด็นที่ตกลงกันนั้น แล้วพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาท ห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องต่อไป

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาว่า 1.โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะที่พิพาทไม่มีโฉนดแม้แต่สามีโจทก์เองก็มีแต่สิทธิครอบครอง โจทก์ครอบครองมาเพียง 8 ปี ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับมรดกแต่ผู้เดียว และไม่ได้ขอตั้งผู้จัดการมรดก การพิพากษาให้ที่พิพาทเป็นของโจทก์นั้นไม่ชอบ 2.การแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ถือได้ว่าเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ เพราะทำเป็นหนังสือและแจ้งจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเหมือนกันและจำเลยได้แจ้งการครอบครองร่วมกับโจทก์ จึงได้สิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า 1.โจทก์มีอำนาจฟ้อง เพราะเมื่อสามีโจทก์ตายที่พิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ตามกฎหมาย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599, 1629, 1635(1) การที่โจทก์ครอบครองมาเพียง 8 ปี และมิได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่ตัดอำนาจโจทก์ที่จะฟ้องเพราะไม่ใช่เรื่องครอบครองอสังหาริมทรัพย์ผู้อื่นโดยปรปักษ์และคดีไม่ปรากฏว่ามีผู้จัดการมรดก โดยโจทก์รับมรดกครอบครองทรัพย์พิพาทมาผู้เดียวโจทก์เป็นเจ้าของ มีอำนาจดีกว่าผู้ใด2.แม้ที่จะไม่มีโฉนด แต่การยกให้โดยไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน และมิได้สละการครอบครอง ไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิ การแจ้งการครอบครองเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 5 วรรค 1 ไม่ใช่นิติกรรมการได้มาซึ่งที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 และจะถือว่าจำเลยได้สิทธิที่พิพาทตามประมวลกฎหมายที่ดินโดยการแจ้งการครอบครองร่วมกับโจทก์ก็ไม่ได้ ทั้งนี้ ตามวรรค 3 แห่งมาตรา 5 ดังกล่าวนั้น

พิพากษายืน

Share