แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาด ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้เมื่อผู้ร้องไปทำการจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องเจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากผู้ร้อง ผู้ร้องได้ชำระภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรแสตมป์แก่เจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อประกาศขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าให้ผู้ซื้อเป็นผู้เสียภาษีเงินได้ ผู้ร้องจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาด และมีสิทธิขอรับเงินที่ได้ชำระภาษีเงินได้คืนโดยให้หักจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ส่วนค่าอากรแสตมป์ได้กำหนดเงื่อนไขในการขายทอดตลาดให้ผู้ซื้อต้องเสียค่าธรรมเนียมเองและตามหนังสือที่ศาลชั้นต้นแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้องก็ระบุว่าค่าอากรแสตมป์การขายให้เรียกเก็บจากผู้ร้อง ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าอากรแสตมป์คืน
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาด ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้ เมื่อผู้ร้องไปทำการจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากผู้ร้อง ผู้ร้องได้ชำระภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรแสตมป์แก่เจ้าพนักงานที่ดิน ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้มีคำสั่งคืนเงินค่าภาษีเงินได้และค่าอากรแสตมป์แก่ผู้ร้อง โดยให้หักออกจากเงินที่ได้วางศาลเป็นค่าขายที่ดิน โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้จำนวน 409,435 บาท จ่ายคืนให้แก่ผู้ร้องตามขอ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ และผู้ร้องจ่ายเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปเพียง384,380 บาท เท่านั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 510 บัญญัติว่า “ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดจะต้องทำตามคำโฆษณาบอกขายและตามความข้ออื่น ๆ ซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายไป” คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดได้ประกาศขายทอดตลาดโดยมีเงื่อนไขในการขายวรรคแรกว่า “การขายทรัพย์สินรายนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีขายเฉพาะกรรมสิทธิ์ของผู้แพ้คดีหรือผู้เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้น แต่ในเรื่องรอนสิทธิการกำหนดเขตที่ดินโดยกว้างยาว บอกประเภทที่ดิน ทรัพย์สินอื่น ๆค่าภาษีอากรต่าง ๆ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่รับรองและรับผิดผู้ซื้อมีหน้าที่ระวังและสอบสวนเอง ถ้าสงสัยอย่างใดขอดูหลักฐานได้ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีในเวลาราชการ” ดังนี้ผู้ร้องจะต้องทำตามเงื่อนไขในการขายที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวมีข้อกำหนดเงื่อนไขในการขายเกี่ยวกับค่าภาษีอากรต่าง ๆด้วย จึงมีปัญหาว่าค่าภาษีอากรต่าง ๆ นั้นรวมถึงค่าภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ ได้ความว่าในการประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี มีแบบประกาศในการขายที่ระบุให้ผู้ซื้อเสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากร ปรากฏตามประกาศขายทอดตลาดในสำนวนอันดับที่ 43 กับแบบเงื่อนไขในการขายที่ไม่ระบุให้ผู้ซื้อเสียภาษีเงินได้ปรากฏตามประกาศขายทอดตลาดในสำนวนอันดับที่ 51 และ 53 เห็นว่า แบบประกาศขายทอดตลาดดังกล่าวแสดงถึงเจตนาของเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดว่าจะให้ผู้ซื้อได้พิจารณาในการประมูลสู้ราคาได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าหากเจ้าพนักงานบังคับคดีประสงค์จะให้การขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์รายใดโดยให้ผู้ซื้อเสียภาษีเงินได้ก็จะกำหนดไว้ในเงื่อนไขในการขายโดยชัดแจ้ง กรณีถือได้ว่าเงื่อนไขในการขายที่จะให้ผู้ซื้อเสียภาษีเงินได้เอง จึงเป็นเงื่อนไขที่จะต้องกำหนดขึ้นเป็นพิเศษแยกต่างหากจากค่าภาษีอากรต่าง ๆ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขในการขาย เมื่อได้ความว่าประกาศขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสำนวนอันดับที่ 53 ที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในการขายว่าให้ผู้ซื้อเป็นผู้เสียภาษีเงินได้ ผู้ร้องจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดคดีนี้ อย่างไรก็ตามในประกาศขายทอดตลาดดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขในการขายวรรคสุดท้ายว่า “อนึ่ง ถ้าจะต้องมีการแก้ทะเบียน ผู้ซื้อต้องเสียค่าธรรมเนียมเอง” และตามหนังสือที่ศาลชั้นต้นแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้องก็ระบุว่า ค่าอากรแสตมป์การขายค่าธรรมเนียมการโอน กับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้เรียกเก็บจากผู้ร้องแต่ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินท้ายคำร้องของผู้ร้องว่า เงินที่ผู้ร้องจ่ายไปเป็นค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 384,380 บาท และค่าอากรแสตมป์อีก 25,055 บาท ดังนั้น เงินค่าอากรแสตมป์ 25,055 บาทนี้ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับคืน
ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าได้ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนโจทก์ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้กันเงินจากการขายทอดตลาดให้แก่ผู้ร้องไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องที่บรรยายว่าชำระภาษีเงินได้แทนโจทก์นั้น น่าจะเป็นความเข้าใจผิดของผู้ร้อง เพราะโจทก์เป็นผู้นำยึดอสังหาริมทรัพย์มาขายทอดตลาดและเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินจากการขายทอดตลาด แต่ผู้ร้องก็ได้บรรยายในคำร้องด้วยว่าให้ศาลสั่งคืนเงินค่าภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดแก่ผู้ร้อง โดยให้หักจากเงินที่ผู้ร้องวางศาล ผู้ร้องหาได้ขอให้ศาลสั่งโจทก์คืนเงินดังกล่าวไม่ เมื่อเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดยังไม่ได้จ่ายให้โจทก์ ศาลก็มีอำนาจให้หักเงินดังกล่าวจ่ายคืนแก่ผู้ร้องได้ หาขัดต่อกฎหมายไม่
ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีเงินได้ผู้ร้องชำระจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนนั้น ข้อนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 บัญญัติว่า “บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลนั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่” เห็นว่า ผู้ร้องซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาด และศาลมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินให้โอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวให้ผู้ร้อง ในการรับจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ ประมวลรัษฎากร มาตรา 50(5) บัญญัติให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) เฉพาะที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งขายอสังหาริมทรัพย์ให้หักภาษีเงินได้ไว้ และมาตรา 52 วรรคสองบัญญัติว่า “…ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน และห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ลงนามรับรู้ ยอมให้ทำหรือบันทึกไว้จนกว่าจะได้รับเงินภาษีที่นำส่งไว้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว…” ดังนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ร้องในฐานะผู้ซื้อเป็นผู้จ่ายเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดมาจากจำเลย จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) และ50(5) ก่อนที่จะจ่ายให้โจทก์รับไป เมื่อผู้ร้องไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อจากการขายทอดตลาด หากไม่ชำระภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก็จะไม่รับจดทะเบียนให้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 52 วรรคสอง ผู้ร้องชำระภาษีเงินได้ไปจึงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้จัดเก็บภาษีเงินได้ทันทีเมื่อมีการจดทะเบียนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ การกระทำของผู้ร้องยังถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระภาษีเงินได้ไปตามอำเภอใจ เมื่อผู้ร้องได้จ่ายเงินที่ผู้ร้องมีหน้าที่หักไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นค่าภาษีดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามที่จะขอรับคืนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้ผู้ร้องได้รับคืนเงินเฉพาะค่าภาษีเงินได้ที่ผู้ร้องจ่ายไปชอบแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนเงินค่าภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์จำนวน 384,380 บาท แก่ผู้ร้อง