แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภาระหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 มิได้หมดสิ้นไปเมื่อมีการจดทะเบียนหย่า เมื่อบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามิได้กล่าวว่าให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลย กรณีต้องถือว่าโจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกันตามมาตรา 1566 วรรคหนึ่ง ส่วนมาตรา 1522 วรรคหนึ่งมีความหมายเพียงว่า ในการหย่าโดยความยินยอม สามีและภริยาอาจตกลงกันในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นจำนวนเท่าใด หากสามีและภริยามิได้กำหนดจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ในบันทึกข้อตกลง ศาลก็ย่อมเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควรตามมาตรา 1522 วรรคสอง บทกฎหมายดังกล่าวหาได้หมายความถึงขนาดที่ว่า เมื่อมิได้กำหนดให้จำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าแล้วจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
ข้อความตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามีว่า “หย่าทั้งสองฝ่าย สาเหตุแห่งการหย่าเพราะทรรศนะไม่ตรงกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชาย ท.อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของมารดา” ข้อความดังกล่าวไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใดตามมาตรา 1522 วรรคหนึ่ง ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยออกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1522 วรรคสอง นอกจากนี้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า แม้เป็นสัญญาระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ก็มิได้ลบล้างหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ การที่โจทก์นำสืบถึงหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยซึ่งเป็นบิดา จึงมิใช่การนำสืบพยานบุคคลหักล้างหรือขัดแย้งกับพยานเอกสาร เมื่อโจทก์นำสืบได้ความชัดแจ้งและจำเลยเองก็ยอมรับว่า หลังจดทะเบียนการหย่าในปี 2537 จำเลยมิได้ให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ เนื่องจากจำเลยยืนยันว่าไม่เคยตกลงที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู โจทก์ก็เรียกให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังตั้งแต่ปี 2537 จนถึงวันฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เดือนละ ๑๑,๐๐๐ บาท นับแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๓๗ จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยตกลงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจำเลยต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ จำเลยจึงมิใช่ผู้ผิดสัญญา ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย ท. ผู้เยาว์ให้แก่โจทก์นับถึงวันฟ้องเป็นจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท และต่อไปให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙) เป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่โจทก์เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙) จนกว่าเด็กชาย ท. ผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร ๑ คน คือ เด็กชาย ท. ผู้เยาว์ ต่อมาโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่า คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์หรือไม่ เห็นว่า ภาระหน้าที่สำคัญของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ ได้แก่ หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๔ และภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้มิได้หมดสิ้นไป เมื่อมีการจดทะเบียนหย่า ตราบใดที่จำเลยยังมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้เป็นที่ยุติแล้วว่า ตามบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่ามิได้กล่าวว่า ให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลย กรณีต้องถือว่าโจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกัน ตามมาตรา ๑๕๖๖ วรรคหนึ่ง ส่วนที่มาตรา ๑๕๒๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นจำนวนเงินเท่าใด” นั้น ก็มีความหมายเพียงว่า ในการหย่าโดยความยินยอม สามีและภริยาอาจตกลงกันในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นจำนวนเท่าใด หากสามีและภริยามิได้กำหนดจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ในบันทึกข้อตกลง ศาลก็ย่อมเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควร ตามมาตรา ๑๕๒๒ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด” ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวหาได้หมายความถึงขนาดที่ว่า เมื่อมิได้กำหนดให้จำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า จำเลยจะไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ดังที่จำเลยฎีกาโต้แย้งแต่อย่างใดไม่ เมื่อพิเคราะห์ข้อความตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าที่ว่า “คู่หย่าทั้งสองฝ่าย สาเหตุแห่งการหย่าเพราะทรรศนะไม่ตรงกัน มีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ เด็กชาย ท. อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของมารดา” แล้ว เห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ตามมาตรา ๑๕๒๒ วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยออกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ตามมาตรา ๑๕๒๒ วรรคสอง นอกจากนี้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า แม้เป็นสัญญาระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ก็มิได้ลบล้างหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ การที่โจทก์นำสืบถึงหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยซึ่งเป็นบิดา จึงมิใช่การนำสืบพยานบุคคลหักล้างหรือขัดแย้งกับพยานเอกสารดังกล่าวตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้แก่โจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์เรียกให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นปีที่โจทก์อ้างว่า จำเลยไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท นอกเหนือจากค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันฟ้องเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะได้หรือไม่ ข้อนี้ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นแรกแล้วว่า หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ เป็นภาระหน้าที่อันสำคัญของจำเลยผู้เป็นบิดา ซึ่งมิได้สิ้นสุดลง หลังการจดทะเบียนหย่า แม้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามิได้ระบุให้จำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ เป็นจำนวนเงินเท่าใด ศาลก็ย่อมกำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควร เมื่อโจทก์นำสืบได้ความชัดแจ้งและจำเลยเองก็ยอมรับว่า หลังจดทะเบียนการหย่าในปี ๒๕๓๗ จำเลยมิได้ให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ เนื่องจากจำเลยยืนยันว่าไม่เคยตกลงที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู โจทก์ก็เรียกให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ จนถึงวันฟ้องได้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่กำหนดให้ตามสมควรเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท เพราะทั้งโจทก์จำเลยต่างก็มีอาชีพเป็นหลักฐานมั่นคง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อีก ๘๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์นั้น ไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.