แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 มีรถสำหรับท่องเที่ยวเป็นของตนเองเพื่อให้เช่าขณะที่ ส. ผู้แทนโจทก์และคณะทำสัญญาเช่ารถ จำเลยที่ 3 ยังไม่ทราบว่ารถมีไม่พอให้เช่า จึงต้องเช่ารถจากจำเลยที่ 2 เพื่อบริการแก่คณะของโจทก์แทน และจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่ารถจัดให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถพาคณะของโจทก์ไปยังจุดหมายตามข้อตกลง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 นำรถเข้าร่วมบริการกับจำเลยที่ 3โดยรับผลประโยชน์ร่วมกัน จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นั้นเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีนายศุภชัยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการนำเที่ยวให้เช่ารถยนต์โดยสาร จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการให้เช่ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยรับประโยชน์ร่วมกันนายสนิทผู้แทนโจทก์และคณะทำสัญญาเช่ารถยนต์โดยสารจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จัดรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 30-1928กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาท คือรู้อยู่แล้วว่าหม้อลมห้ามล้อชำรุดบกพร่อง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอด้วยการขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางลาดชันและทางโค้ง จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถบังคับรถได้ รถเสียหลักพลิกคว่ำลงข้างทางเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 30 – 1928 จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วต่ำตามกฎหมาย และใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์แล้วขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จ้างให้จำเลยที่ 1 ขับรถในลักษณะสัญญาจ้างทำของสัญญาเช่าที่จำเลยที่ 3 ทำกับจำเลยที่ 2 และนายสนิทผู้แทนโจทก์นั้นไม่ได้ระบุสถานที่น้ำตกเอราวัณไว้ จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน 264,760 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 อันจะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 3 มีรถสำหรับท่องเที่ยวเป็นของตนเองเพื่อให้เช่า ขณะที่นายสนิททำสัญญาเช่ารถ จำเลยที่ 3 ยังไม่ทราบว่ารถมีไม่พอให้เช่า จึงต้องเช่ารถจำเลยที่ 2 เพื่อบริการแก่คณะของโจทก์แทน และจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่ารถจัดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถพาคณะของโจทก์ไปยังจุดหมายตามข้อตกลงตามพฤติการณ์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 นำรถเข้าร่วมบริการกับจำเลยที่ 3 โดยรับผลประโยชน์ร่วมกัน คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นั้นเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ส่วนปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้รับตามคำพิพากษาน้อยเกินควรหรือไม่นั้น ปัญหาข้อนี้โจทก์อุทธรณ์มาแล้ว แม้ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการพิจารณาคดี เห็นว่า สำหรับค่ารักษาพยาบาลโจทก์ขอมา 20,000 บาท มีหลักฐานมาแสดงคิดเป็นเงิน 4,760 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดให้ตามขอ ส่วนที่เหลือไม่มีหลักฐาน แต่ศาลชั้นต้นยังกำหนดให้เป็นเงิน 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 14,760 บาท นั้น นับว่าเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว ส่วนค่าสินไหมทดแทนเพื่อความทุพพลภาพของโจทก์ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายเป็นเงิน3,525 บาท ในขณะที่โจทก์มีอายุ 31 ปี หากโจทก์มีโอกาสรับราชการไปจนเกษียณอายุโดยเงินเดือนไม่ขึ้นเลย ก็ได้รับเงินทั้งสิ้นถึง1,226,700 บาท เมื่อโจทก์ขอเงินส่วนนี้มาเพียง 280,000 บาทนับว่าเป็นจำนวนเล็กน้อยอยู่แล้วสมควรให้เท่าจำนวนที่โจทก์ขอรวมเป็นเงินที่โจทก์ควรได้รับทั้งสิ้น 294,760 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 294,760 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์