คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2964/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เบี้ยปรับคือค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้า เบี้ยปรับจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 ทั้งมาตรา 380 วรรคสอง ก็ให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เสียไปโดยให้คิดเบี้ยปรับรวมอยู่ในนั้นด้วยในฐานที่เป็นจำนวนน้อยที่สุดของค่าเสียหายเมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาที่โจทก์ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นพร้อมเบี้ยปรับแสดงให้เห็นถึงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามจำนวนเงินที่กำหนดให้จริง ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในทำนองว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ตนชำระค่าเสียหายเป็นค่าซื้อทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ชำระเงินประกันสัญญา และชำระค่าปรับขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลซึ่งเป็นฎีกาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงซื้อยางแอสฟัลต์น้ำหนัก 25 เมตริกตัน เป็นเงิน 209,625บาท จากจำเลยที่ 1 กำหนดส่งมอบภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2533 ณ บริเวณแขวงการทางสกลนคร โดยมีจำเลยที่ 2 ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 เป็นเงินไม่เกิน 10,482 บาท ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาไม่ส่งมอบยางแอสฟัลต์ให้แก่โจทก์ได้ทันภายในกำหนดเวลา โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาและแจ้งการปรับกรณีผิดสัญญา ภายหลังกำหนดเวลาส่งมอบล่วงเลยไปนานแล้ว โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขาย ต่อมาโจทก์ตกลงซื้อยางแอสฟัลต์ชนิดและจำนวนเดียวกันดังกล่าวจากบริษัททิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด ในราคา 245,000 บาท ทำให้โจทก์ต้องเสียเงินค่าจัดซื้อเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 35,375 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนนี้ตามสัญญาซื้อขายพร้อมค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคายางแอสฟัลต์ที่โจทก์ยังไม่ได้รับมอบ นับถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เป็นเงินค่าปรับ 171,892.50 บาท รวมเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 207,267.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 207,267.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 10,482 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบยางแอสฟัลต์ได้เพราะโจทก์ปฏิเสธไม่รับมอบ โดยการใช้ดุลพินิจในการกำหนดมาตรฐานสินค้าและวิธีการผลิตไม่สุจริตขัดกับมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องการเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 เพื่อให้บริษัทอื่นเข้ามาเป็นคู่สัญญาแทน จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 95,375 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 7 กันยายน 2537) จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินไม่เกิน 10,482 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 135,375 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 7 กันยายน 2537) จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบยางแอสฟัลต์ให้แก่โจทก์ตามกำหนด และให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาที่โจทก์ต้องเสียเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 35,375 บาท โดยศาลชั้นต้นกำหนดเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1ชำระแก่โจทก์จำนวน 60,000 บาท ส่วนศาลอุทธรณ์กำหนดเบี้ยปรับให้โจทก์เพิ่มเป็น 100,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 135,375 บาท ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาทำนองว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าซื้อทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ชำระเงินประกันตามสัญญาและชำระค่าปรับเป็นรายวันด้วยเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 380 วรรคสอง โจทก์สมควรได้รับค่าเสียหายเฉพาะเบี้ยปรับอย่างเดียวเพราะสูงกว่าค่าเสียหายอย่างอื่น อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายที่เสียหายเพียงฝ่ายเดียวจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า เบี้ยปรับก็คือค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้า เบี้ยปรับจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายด้วยเหตุนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 จึงบัญญัติไว้ว่า ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงก็ได้ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง ก็บัญญัติไว้ว่าให้เจ้าหนี้เรียกค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เสียไปโดยให้คิดเบี้ยปรับรวมอยู่ในนั้นด้วย คือให้ถือว่าเบี้ยปรับเป็นจำนวนน้อยที่สุดของค่าเสียหาย ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาที่โจทก์ต้องเสียเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 35,375 บาท และเบี้ยปรับจำนวน100,000 บาท รวมเป็นเงิน 135,375 บาท แสดงว่าศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามจำนวนเงินดังกล่าว จึงใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 135,375 บาท ที่จำเลยที่ 1 ฎีกามาดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…”

พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1

Share