คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2961/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯแล้วจำเลยยังทำร้ายผู้เสียหายและชักหรือแสดงอาวุธในการวิวาทต่อสู้แต่เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถยึดอาวุธปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดมาเป็นของกลาง และโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบอาวุธปืนการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบอาวุธปืนซึ่งมีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนพกชนิดและขนาดไม่ปรากฏชัดจำนวน 1 กระบอก ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองโดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว จำเลยได้ตบหน้านายชาตรี ชอนตะวัน ผู้เสียหายจำนวน 2 ครั้ง โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจและจำเลยชักแสดงอาวุธปืนดังกล่าวในการวิวาทต่อสู้ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด5 เดือน ปรับ 3,500 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษมีกำหนด 1 ปีฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7049/2540 ของศาลจังหวัดสระบุรี ภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษจำเลยกระทำความผิดคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91, 371, 379, 391พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิและบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้

จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 379, 391 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานมีอาวุธปืนฯ จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุก 1 เดือน ฐานชักหรือแสดงอาวุธในการวิวาทต่อสู้จำคุก 10 วัน รวมจำคุก 2 ปี 1 เดือน 10 วัน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 20 วัน บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7049/2540 ของศาลจังหวัดสระบุรีเข้ากับโทษคดีนี้ เป็นจำคุก 1 ปี 5 เดือน 20 วัน ริบอาวุธปืนซึ่งมีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานพาอาวุธปืนฯจำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78จำคุก 3 เดือน รวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนฯ ฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจและฐานชักหรือแสดงอาวุธในการวิวาทต่อสู้ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วเป็นจำคุก 9 เดือน 20 วัน บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7049/2540 ของศาลจังหวัดสระบุรี เข้ากับโทษคดีนี้เป็นจำคุก 14 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลย และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลดโทษจำคุกในข้อหาพาอาวุธปืนฯ ให้แก่จำเลย นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและสภาพความผิดแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข

อนึ่ง คดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถยึดอาวุธปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดมาเป็นของกลาง และโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบอาวุธปืนแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบอาวุธปืนซึ่งมีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ให้ริบอาวุธปืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share