คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296-297/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่า นายจ้างจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้ลูกจ้างเป็น ประจำทุกเดือน มีจำนวนแน่นอนทำนองเดียวกับค่าจ้างหรือ เงินเดือน เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน
นายจ้างจ่ายเบี้ยเลี้ยงมีจำนวนแน่นอนให้แก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานประจำ ณ หน่วยงานแห่งหนึ่งของนายจ้าง มิใช่จ่ายเฉพาะลูกจ้างที่ออกไปทำงานนอกสถานที่เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งเป็นครั้งคราว ดังนี้ เบี้ยเลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ในสำนวนคดีแรกว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ตามลำดับเรียกโจทก์ในสำนวนคดีหลังว่า โจทก์ที่ 14 ถึงที่ 15 ตามลำดับและเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 15 เป็นลูกจ้างประจำ นอกจากได้รับค่าจ้างเป็นรายวันแล้ว โจทก์ทุกคนยังได้รับค่าครองชีพเดือนละ 750 บาท และโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 15 บาท โจทก์ที่ 14ที่ 15 ได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 12 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน2524 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทุกคนโดยไม่มีความผิด โจทก์ทุกคนมีอายุงานกว่า 3 ปี จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์โดยไม่นำเงินช่วยค่าครองชีพและเบี้ยเลี้ยงมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณเป็นค่าชดเชย ทำให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยขาดไป ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยที่ค้างชำระให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 คนละ 7,200 บาทให้โจทก์ที่ 14 และที่ 15 คนละ 6,432 บาท

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เงินช่วยค่าครองชีพและเบี้ยเลี้ยงไม่ใช่ค่าจ้าง จะนำมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณค่าชดเชยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 คนละ 7,200 บาท ให้โจทก์ที่ 14 และที่ 15คนละ 6,432 บาท

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าเงินช่วยค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้างด้วยเหตุผล 3 ประการคือ

(ก) ลูกจ้างหยุดงานติดต่อกัน 30 วัน เช่นลาคลอดจะไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพ ส่วนค่าจ้างได้รับตามปกติ เห็นว่าแม้จำเลยจะกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพไว้ดังเช่นที่กล่าวนั้นเงินช่วยค่าครองชีพก็ยังเป็นสิ่งที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานอยู่นั่นเอง เพราะจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนมีจำนวนแน่นอนทำนองเดียวกับค่าจ้างหรือเงินเดือนจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ส่วนที่จำเลยงดจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพในระหว่างลูกจ้างหยุดงานติดต่อกัน 30 วัน แต่ยังคงจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างนั้น เห็นว่าเงินช่วยค่าครองชีพเป็นที่นายจ้างสมัครใจจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ฉะนั้นนายจ้างจึงมีสิทธิที่จะวางเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพได้ตามที่เห็นสมควร และเงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่ทำให้เงินช่วยค่าครองชีพไม่เป็นค่าจ้าง

(ข) การจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพนั้น จ่ายให้เท่ากันทุกคนโดยไม่ได้คำนวณถึงผลงานหรือค่าจ้างของโจทก์ และพนักงานของจำเลยที่มีเงินเดือนเกิน 10,000 บาท ไม่ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพ เงินช่วยค่าครองชีพจึงมิใช่ค่าจ้าง เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ให้บทนิยามของคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้ว่า “เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้” แสดงว่าค่าจ้างนั้นจะจ่ายโดยคำนวณตามระยะเวลาในการทำงานเช่น รายชั่วโมงรายวัน ฯลฯ ก็ได้ หรือจะจ่ายโดยคำนวณจากผลของงานเช่นเป็นรายชิ้นของสิ่งของที่ผลิตก็ได้ โจทก์ทุกคนได้รับค่าจ้างเป็นรายวันจึงไม่ต้องคำนวณค่าจ้างตามผลของงาน ฉะนั้น เงินช่วยค่าครองชีพที่โจทก์แต่ละคนได้รับก็ไม่ต้องคำนวณตามผลงานเช่นเดียวกัน ส่วนข้อที่อ้างว่าพนักงานของจำเลยที่มีเงินเดือน 10,000 บาทไม่ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพนั้นเป็นเรื่องที่นายจ้างเห็นว่าได้รับเงินเดือนสูงอยู่แล้วไม่จำต้องจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพไม่ใช่เหตุผลที่จะถือว่าเงินช่วยค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้าง

(ค) ค่าจ้าง “หมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย” การที่โจทก์หยุดงานเกิน 30 วันทำให้หมดสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพในระหว่างวันหยุด เงินช่วยค่าครองชีพจึงไม่ใช่ค่าจ้างนั้น บทนิยามของคำว่า “ค่าจ้าง” ข้อนี้มีความหมายแต่เพียงว่าในกรณีที่ลูกจ้างได้รับเงิน หรือเงินและสิ่งของในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลา ก็ต้องนำมารวมเป็นค่าจ้างเพื่อคำนวณค่าชดเชยด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง หากไม่มีข้อความเช่นนี้สิ่งที่ลูกจ้างได้รับในวันหยุดซึ่งไม่ได้ทำงานหรือในวันลาเนื่องจากได้ทำงานมาด้วยดีในวันทำงานตามปกติก็ไม่สามารถอำนวยประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยได้ การที่นายจ้างวางระเบียบว่า หากลูกจ้างหยุดงานติดต่อกัน 30 วัน ไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพนั้น ไม่ทำให้เงินช่วยค่าครองชีพซึ่งลูกจ้างได้รับระหว่างทำงานซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง กลับกลายเป็นไม่ใช่ค่าจ้างไปได้

จำเลยอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่าเบี้ยเลี้ยงไม่ใช่ค่าจ้างเพราะกรณีลูกจ้างขาดงานลากิจ ลาป่วย ลูกจ้างไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง คงได้รับแต่ค่าจ้าง เห็นว่าเบี้ยเลี้ยงตามฟ้องจำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานประจำ ณ หน่วยงานท้ายบ้าน มีหลักเกณฑ์การจ่ายแน่นอนไม่ใช่จ่ายให้เฉพาะลูกจ้างที่ออกไปทำงานนอกสถานที่เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งเป็นครั้งคราว เบี้ยเลี้ยงที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่โจทก์ได้รับ

พิพากษายืน

Share