คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1302/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญายอมความว่า โจทก์ยอมให้จำเลยเช่าห้องพิพาทจนสิ้นเดือนตุลาคม ค่าเช่าเดือนละ 100 บาท ครบกำหนดแล้ว ถ้าโจทก์ยังไม่สร้างอาคารในที่พิพาท ยอมให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทได้ต่อไป โดยโจทก์จำเลยจะได้ทำสัญญากันต่างหาก ถ้าจำเลยไม่ยอมทำ ให้ถือว่าจำเลยไม่ประสงค์จะอยู่ในที่พิพาทต่อไป ดังนี้ ในการทำสัญญาเช่าใหม่ แม้โจทก์จะเอาค่าเช่าเป็นวันละ 100 บาท ก็เป็นสิทธิของโจทก์ เมื่อจำเลยเห็นว่าแพงไปและไม่ทำสัญญาเช่า ก็จะหาว่าโจทก์ขัดขวางมิให้จำเลยเข้าทำสัญญากับโจทก์ไม่ได้
อุทธรณ์ของโจทก์ได้ตั้งประเด็นมาแล้วว่าจำเลยผิดสัญญา แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ ถ้าศาลฎีกาเห็นเป็นการสมควร จะวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ก็ได้

ย่อยาว

เดิม โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถว และได้เรียกนางล้วนเข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วย โจทก์จำเลยและจำเลยร่วมได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว มีข้อความว่า
ฯลฯ
๓. โจทก์ได้รับเงิน (จากจำเลย) ตามข้อ ๒ แล้ว โจทก์ยอมให้นางล้วนจำเลยอยู่ในห้องพิพาทได้ต่อไปอีกจนสิ้นเดือนตุลาคม ๒๕๐๙ โดยจำเลยจะต้องเสียค่าเช่าให้โจทก์เดือนละ ๑๐๐ บาท ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป
๔. ครบกำหนดตามข้อ ๓ แล้ว ถ้าโจทก์ยังไม่ก่อสร้างอาคารบนที่พิพาท โจทก์ยอมให้นางล้วนจำเลยอยู่ในห้องพิพาทต่อไป โดยโจทก์จำเลยจะได้ทำสัญญากันต่างหาก ถ้าจำเลยไม่ยอมทำให้ถือว่าจำเลยไม่ประสงค์จะอยู่ในที่พิพาทต่อไป
ฯลฯ
ต่อมาวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๒ โจทก์ยื่นคำร้องว่า เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าแล้ว โจทก์บอกให้นางล้วนมาทำสัญญาเช่าเป็นรายวัน ๆ ละ ๑๐๐ บาท นางล้วนไม่ยอมทำสัญญา อ้างว่าค่าเช่าแพงไป จึงถือว่านางล้วนไม่ประสงค์จะอยู่ในที่พิพาทต่อไปตามสัญญา ขอให้ศาลบังคับให้นางล้วนและบริวารออกจากห้องพิพาท
ศาลชั้นต้นนัดพร้อม นางล้วนแถลงว่า ก่อนวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๐๙ ได้ไปขอทำสัญญากับโจทก์เพื่อปฏิบัติตามสัญญายอมความข้อ ๔ แล้ว แต่โจทก์จะคิดค่าเช่าวันละ ๑๐๐ บาท จึงไม่ได้ทำสัญญาเช่าต่อกัน โจทก์แถลงรับว่าเป็นความจริง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยไม่เป็นผู้ผิดสัญญายอมความข้อ ๔ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้ตั้งประเด็นอุทธรณ์ว่า นางล้วนเป็นฝ่ายผิดสัญญาข้อ ๔ แล้ว ในประเด็นข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ซึ่งศาลฎีกาอาจจะย้อนสำนวนไปให้วินิจฉัยก็ได้ แต่คดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าได้เคยพิพาทกันในชั้นบังคับคดีจนถึงศาลฎีกาครั้งหนึ่งแล้ว ถ้าจะย้อนสำนวนไปให้วินิจฉัยใหม่ ก็จะทำให้เสียเวลาไปอีก เป็นการเสียหายแก่คู่กรณีมาก ศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ไปเสียทีเดียว
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๔ นั้น สารสำคัญอยู่ที่ว่า โจทก์กับนางล้วนจะต้องทำสัญญากันใหม่เมื่อครบกำหนดตามสัญญายอมข้อ ๓ แล้ว ถ้านางล้วนไม่ยอมทำ ก็ให้ถือว่านางล้วนไม่ประสงค์จะอยู่ในที่พิพาทต่อไป ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่านางล้วนไม่ยอมทำสัญญาเช่ากับโจทก์ ดังนี้ ได้ชื่อว่านางล้วนเป็นฝ่ายผิดสัญญาข้อ ๔ แล้ว ที่นางล้วนอ้างว่าโจทก์คิดค่าเช่าวันละ ๑๐๐ บาท แพงเกินไป จึงไม่ยอมทำสัญญาเช่า และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ตั้งอัตราค่าเช่าใหม่สูงกว่าเก่าถึง ๓๐ เท่าเช่นนี้ ชี้ชัดว่าโจทก์ประสงค์จะขัดขวางมิให้นางล้วนเข้าทำสัญญาเช่ากับโจทก์ นางล้วนจึงไม่เป็นผู้ผิดสัญญาแต่อย่างใดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๔ มิได้กำหนดไว้ว่า ในการทำสัญญาเช่าใหม่ให้คิดค่าเช่าเดือนละเท่าใด จะผูกมัดให้โจทก์คิดค่าเช่าเท่าเดิมไม่ได้ ตามข้อตกลงที่ว่าจะต้องทำสัญญากันต่างหากนั้น อัตราค่าเช่าก็ต้องตกลงกันใหม่ด้วย โจทก์จะเอาค่าเช่าเท่าไรย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ แต่ก็ไม่ผูกมัดนางล้วนให้จำต้องทำสัญญากับโจทก์ตามที่โจทก์ตั้งอัตราค่าเช่ามานั้น ถ้าเห็นว่าแพงไปก็มีสิทธิที่จะไม่ทำสัญญาได้ เมื่อนางล้วนไม่ทำสัญญาเช่า ก็ต้องถือว่านางล้วนไม่ประสงค์จะอยู่ในที่พิพาทที่ได้ทำยอมกันไว้
พิพากษากลับ เป็นบังคับให้นางล้วนจำเลยร่วมพร้อมด้วยบริวารออกจากห้องพิพาท

Share