คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2949/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อไปในภายหลังหากศาลพิจารณาให้ตนเป็นฝ่ายแพ้คดี การเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีก็เพื่อให้ผูกพันในผลแห่งคดี จำเลยทั้งสองมิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยร่วม จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วม โดยที่โจทก์มิได้ฎีกา แม้จำเลยร่วมจะยื่นคำแก้ฎีกา ก็ไม่มีประเด็นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 623,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 65,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะรับชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งโดยขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 330,190 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 พฤษภาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่ในส่วนของค่าขึ้นศาลให้ร่วมกันใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 8,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งให้ตกเป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายแช่ม ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า กรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกรมธรรม์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน แยกความรับผิดออกจากกัน โดยกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกำหนดความรับผิดต่อความบาดเจ็บเป็นเงิน 50,000 บาท ต่อหนึ่งคน ส่วนกรมธรรม์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระบุความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกอันเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ตั้งแต่ 50,001 บาท ถึง 100,000 บาท ต่อหนึ่งคน เมื่อความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องชดใช้มากกว่า 100,000 บาท จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดชดใช้แทนตามที่ระบุในกรมธรรม์ทั้งสองจำนวน 150,000 บาท จำเลยร่วมไม่ได้นำสืบปฏิเสธในข้อนี้ ขอให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวนนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อไปในภายหลังหากศาลพิจารณาให้ตนเป็นฝ่ายแพ้คดี การเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีก็เพื่อให้ผูกพันในผลแห่งคดี จำเลยทั้งสองมิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยร่วม จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับความผิดของจำเลยร่วม โดยที่โจทก์มิได้ฎีกา แม้จำเลยร่วมจะยื่นคำแก้ฎีกา ก็ไม่มีประเด็นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share