คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3286/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) การที่ศาลยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยมิได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง จึงเป็นการไม่ชอบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายมาโดยชัดเจนถึงข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตลอดจนความรับผิดของจำเลยแล้วจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้าย ป.วิ.พ. ตาราง 1 (2) (ก) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลดังกล่าวเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,818,130.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,200,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ ขอให้ยึดทรัพย์สินจำนองตามฟ้องและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,181,130.12 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 มาในคำฟ้อง ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคำบรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวฐานะหนึ่ง ส่วนคำฟ้องที่โจทก์บรรยายเกี่ยวกับการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23021 และบันทึกขึ้นเงินจากจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งตามโฉนดดังกล่าว ที่นายจรัลเป็นผู้ตกลงจำนองและขึ้นเงินจากจำนองแก่โจทก์นั้น แม้โจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้องว่าเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3 อย่างใด แต่ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 17 ปรากฏว่ามีภาพถ่ายมรณบัตรของนายจรัล กับหนังสือลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2542 ที่จำเลยที่ 3 ทำให้ไว้แก่โจทก์ระบุในข้อ 2 ว่าจำเลยที่ 3 ทายาทผู้รับมรดกของผู้ตาย และเด็กหญิงธันยพร โดยจำเลยที่ 3 มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นบุตรผู้ตาย ได้ทราบหนี้สินและภาระผูกพันของผู้ตายที่มีต่อธนาคารดังกล่าวในข้อ 1 แล้ว ขอรับว่ายอดหนี้และภาระผูกพันดังกล่าวในข้อ 1 ถูกต้องทุกประการ และในข้อ 3 ว่าขอร่วมกันค้ำประกันหนี้สินและภาระผูกพันดังกล่าวในข้อ 1 ต่อไปหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี หรือตาย ขอรับผิดชอบร่วมกับจำเลยที่ 1 ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวครบถ้วนทันที และจำเลยที่ 3 กับเด็กหญิงธันยพร ลงชื่อในช่องผู้ให้สัญญา และการพิจารณาคำฟ้องว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะใดจะต้องพิจารณาคำฟ้องรวมกันทั้งฉบับประกอบเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ดังนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์และเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวเมื่อพิจารณาประกอบกันแล้ว เห็นได้ชัดว่า ในส่วนเกี่ยวกับการจำนองและขึ้นเงินจำนองครั้งที่หนึ่งตามโฉนดเลขที่ 23021 ที่นายจรัลทำไว้ให้แก่โจทก์ดังกล่าว โจทก์มีความประสงค์ให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 3 เป็นภรรยาซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายจรัล ผู้ตาย และในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวธันยพร ซึ่งเป็นบุตรและทายาทโดยธรรมของนายจรัล ผู้ตาย นั่นเอง แม้โจทก์จะมิได้ระบุชื่อนางสาวธันยพร ในช่องชื่อคู่ความเป็นจำเลยด้วยก็ตาม คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงได้บรรยายมาโดยชัดเจนถึงข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตลอดจนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในแต่ละฐานะแล้ว มิใช่โจทก์บรรยายฟ้องรวม ๆ กันมาจนถึงขนาดไม่เข้าใจว่าโจทก์ต้องการฟ้องว่าใครโต้แย้งสิทธิของโจทก์ อันจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลชั้นต้นจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) การที่ศาลชั้นต้นยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยมิได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างแล้วเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมจึงไม่มีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น จำต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 3 นำสืบ จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ข้อกฎหมายที่จะขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาโดยตรงได้ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ใหม่
อนึ่ง คดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีสำหรับจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ศาลเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2 (ก) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลดังกล่าวเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 3 และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีสำหรับจำเลยที่ 3 คืนค่าขึ้นศาลที่ชำระเกินมาในชั้นนี้ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ.

Share