คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในคดีนี้เนื่องจากจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ผู้ชำระบัญชีแบ่งคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ผู้ถือหุ้นโดยไม่ชอบด้วย ป.พ.พ.มาตรา 1269 โดยโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1เรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์ โจทก์จึงใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนตาม ป.พ.พ.มาตรา 233 ดังนี้ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแม้จะเป็นคดีแพ่ง แต่มิใช่คดีแพ่งที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรที่ศาลภาษีอากรจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 7 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ.2528 เพราะเป็นเรื่องที่พิพาทกันว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 จะต้องคืนทรัพย์สินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อที่โจทก์จะได้บังคับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต่อศาลภาษีอากร
การที่ศาลภาษีอากรพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม 448,954.74 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5ต่อเดือนของเงินภาษี 326,616.50 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เช่นนี้ อาจมีผลทำให้เงินเพิ่มที่คำนวณได้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียอันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 รับผิดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เพราะ ป.รัษฎากรมาตรา 27 วรรคสาม ให้คำนวณเงินเพิ่มได้ แต่มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียปัญหาข้อนี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

Share