คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจดำเนินการสร้างอาคารชุดต่อไปได้เพราะขาดทุนดำเนินการ และ ส. ประธานกรรมการหลบหนีไปก็ได้รีบดำเนินการงดรับเงินค่าซื้ออาคารชุดงวดต่อ ๆ มาต่อผู้เสียหาย และยังหาทางชดใช้เงินผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่มีเจตนากระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและเป็นเพียงผู้ลงชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายเป็นคู่สัญญากับผู้เสียหายเท่านั้นหากจะฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก็เป็นเรื่องซึ่งจะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ความประสงค์หรือการกระทำของจำเลยที่ 1 แสดงออกโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำผิดตามฟ้องจึงเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 350,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 รวม 26 กระทง กระทงละ10,000 บาท ร่วมปรับ 260,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3กระทงละ 5 ปี 26 กระทง รวม 130 ปี แต่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2ที่ 3 คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ให้จำเลยทั้งสามคืนเงินแก่ผู้เสียหาย 343,275 บาท ค่าปรับหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดเป็นค่าปรับต่อไป
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2ที่ 3 ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำการฉ้อโกงประชาชนตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ได้ความจากนายฉลอง อักษรดิษฐ์ นายวิชัย เวทรังสิการนางสาวทัศนีย์ พิทยานุกูล นายวิชัย เดชะดี นายปริญญาภูมิพิศิษฐานนท์ นางสาวราตรี ภิรมณ์วงษ์ นางศิริวรรณวัฒน์จิรานนท์ นางสาวนันทวรรณ ยุทธวงศ์ นางสาวจุไรรัตน์ภัทรเสริมพงศ์ นายสุเทพ ภูมณีรัตนกุล นางสาววราภรณ์ ด่านรัตนสุนทรนายอรรณพ กัณฑวงศ์ นางดุริยา รัตนผล นางละอองทิพย์ ภู่บุญนายฉาย ภิรมย์รักษ์ นายวรชัย จันทร์ นางอัมพร สุวรรณรังษี นางอารีเอื้อทรงธรรม ซึ่งต่างเป็นผู้เสียหายว่า ประมาณต้นเดือนมิถุนายน2525 ผู้เสียหายต่างทราบประกาศจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่ามีการสร้างอาคารชุดที่พักอาศัยสำหรับประชาชนทั่วไปในที่ดินบริเวณถนนสุขาภิบาล 1 แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครเรียกว่าโครงการเคหะชุมชนสุขาภิบาล 1 ต่างมีความสนใจและไปดูพบว่า บริเวณที่ดินที่จะทำการก่อสร้างมีการประกาศโฆษณาด้วยแผ่นป้ายขนาดใหญ่และด้วยเครื่องขยายเสียง มีข้อความชักชวนให้ประชาชนทั่วไปจับจองซื้อ เจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในอาคารชั่วคราวบริเวณที่ดินได้นำแบบแปลนแผนผังบ้านและบริเวณที่จะปลูกสร้างให้ดูแล้วได้วางเงินมัดจำบางส่วน ต่อมาอีกประมาณ 7 วัน ต่างก็ได้ไปทำสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์อาคารชุดเอกสารหมาย จ.5, จ.11,จ.18, จ.21, จ.23, จ.26, จ.34, จ.29, จ.38, จ.45, จ.50, จ.56,จ.59, จ.64, จ.79, จ.70, จ.87, จ.89 ตามลำดับ กับจำเลยที่ 1ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ถนนสุขาภิบาล 1 แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร ต่อมาต่างได้ผ่อนชำระราคาค่าซื้อจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2525 เจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 บอกงดรับชำระราคา อ้างเหตุว่าโครงการก่อสร้างล้มเลิกเพราะไม่คุ้มทุน นายสมดุลย์สุชาตะประคัลภ์ ประธานกรรมการบริษัทหลบหนีไป ผู้เสียหายจึงต่างไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และได้ความจากร้อยตำรวจโทมนตรีจิตร์วิวัฒน์ ว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2525 พวกผู้เสียหาย 20 คนมาแจ้งความดังกล่าวจริง เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบมาตรา 341 โจทก์จะต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีเจตนาทุจริต หลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ได้ความจากร้อยตำรวจโทมนตรีพนักงานสอบสวนและนายสาระ ตุงคศิริ พนักงานธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกสินเชื่อว่าเดิมจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินในคดีนี้ในราคา 18 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2525 จำเลยที่ 1ขอกู้เงินธนาคารนครหลวงไทย จำกัด จำนวน 70 ล้านบาท โดยนำที่ดินจำนวน 175 แปลงซึ่งรวมที่ดินในโครงการก่อสร้างในคดีนี้ด้วยไปจำนองและได้ความจากนางสาวจุไรรัตน์ ภัทรเสริมพงศ์นางดุริยา รัตนผล นางนันทวรรณ ยุทธวงศ์ ผู้เสียหายว่า ก่อนตกลงซื้อที่ดินได้ไปดูสถานที่ที่จะก่อสร้างบ้านเห็นว่าเป็นที่ดินถมพร้อมที่จะปลูกสร้างบ้านได้ หลังจากผ่อนชำระเงินค่าซื้อตามสัญญาไปบ้างแล้วประมาณเดือนพฤศจิกายน 2525 พนักงานจำเลยที่ 1 บอกว่ามีข้อพิพาทกันในบริษัทไม่ต้องผ่อนชำระเงิน แล้วจำเลยที่ 2 บอกนางนันทวรรณว่า มีปัญหาไม่อาจสร้างที่พักอาศัยได้ ทั้งยังได้ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่บริษัทจำเลยที่ 1 รับรองในบันทึกท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.31 ว่านางนันทวรรณไม่ได้ผิดสัญญา และต้น พ.ศ. 2528จำเลยที่ 3 ก็ได้ขอให้นางละอองทิพย์ ผู้เสียหายรวบรวมรายชื่อลูกค้าผู้สั่งจองอาคารชุดเพื่อจำเลยที่ 3 จะรับผิดชอบชดใช้เงินคืนให้ ซึ่งต่อมาก็ได้ผ่อนชดใช้เงินคืนผู้เสียหายบางคนไปแล้วเห็นว่า นอกจากตามคำพยานหลักฐานโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงโดยตรงว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 หลอกลวงผู้เสียหายให้ชำระเงินมัดจำ เงินค่าซื้ออาคารชุดหรือหลอกลวงให้ทำสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์อาคารชุดตามเอกสารที่โจทก์อ้างโดยทุจริตแล้วยังมีนายดวง ยศสุนทร สถาปนิกเบิกความสนับสนุนคำพยานจำเลยว่า บริษัทเคนชู คอนสตรัคชั่น จำกัดเป็นผู้ว่าจ้างให้พยานเป็นผู้เขียนแบบแปลนการก่อสร้างอาคารชุดในคดีนี้จริง ข้อเท็จจริงตามคำพยานโจทก์จำเลยแสดงว่าจำเลยที่ 1ได้ลงทุนซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคารชุดในราคาสูงถึงประมาณ 18ล้านบาท ได้นำไปจำนองธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ในราคา 70 ล้านบาทและจำเลยที่ 1 ได้ขอให้นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ขณะนั้นมาทำพิธีเปิดโครงการ โดยมีสำนักงานชั่วคราวตามภาพถ่ายหมาย จ.51 และประกาศโฆษณาแก่ประชาชนโดยเปิดเผยครั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจดำเนินการสร้างอาคารชุดต่อไปได้เพราะขาดทุนดำเนินการ และนายสมดุลย์ประธานกรรมการหลบหนีไปก็ได้รีบดำเนินการงดรับเงินค่าซื้ออาคารชุดงวดต่อ ๆ มาต่อผู้เสียหายทั้ง ๆ ที่เพิ่งได้รับเงินจากผู้เสียหายรวม 27 ราย เพียงประมาณ 350,000 บาท และยังหาทางชดใช้เงินคืนผู้เสียหายดังกล่าว น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นเพียงกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนากระทำผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชนตามฟ้อง ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีเจตนากระทำผิดก็สามารถใช้อุบายเรียกเงินค่าซื้ออาคารชุดจากผู้เสียหายได้ตลอดเวลาไม่พึงงดการรับเงินค่างวดดังกล่าว ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1อ้างแก่ประชาชนว่าได้รับความสนับสนุนจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัดกับการเคหะแห่งชาตินั้นก็ได้ความว่า ธนาคารนครหลวงไทย จำกัดรับจำนองที่ดินที่มีโครงการปลูกอาคารในราคาสูงถึง 70 ล้านบาทและนายดำรงผู้ว่าการเคหะแห่งชาติขณะนั้นได้ไปในงานเปิดโครงการของจำเลยที่ 1 อีกด้วย จึงย่อมเป็นมูลเหตุที่จำเลยที่ 1 อ้างและทำการโฆษณาได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับการสนับสนุนโครงการโดยธนาคารนครหลวงไทย จำกัด และการเคหะแห่งชาติ ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบคงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเพียงผู้ลงชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายเป็นคู่สัญญากับผู้เสียหายเท่านั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันหรือแวดล้อมมัดตัวจำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีเจตนาร่วมกันหลอกลวงพวกผู้เสียหายและประชาชนคนอื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำผิดทางอาญาก็เป็นเรื่องซึ่งจะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2ที่ 3 ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3ฟังขึ้น ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ความประสงค์หรือการกระทำของจำเลยที่ 1 แสดงออกโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 เมื่อได้วินิจฉัยไปแล้วว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำผิดตามฟ้องจึงเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share