คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 19 ยังไม่ได้กำหนดให้สถานีขนส่งสายเหนือเป็นสถานที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสารไว้เป็นการต่างหาก จึงต้องนำประกาศของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่งซึ่งประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ.2497 มาใช้ตามมาตรา 164 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 จึงมิใช่การนำกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาใช้บังคับและลงโทษแก่จำเลย
รถประจำทางปรับอากาศต้องหยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสารณ สถานที่ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดหรือสถานที่หยุดหรือจอดรถตามที่มาตรา 164 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 บัญญัติไว้เท่านั้น การที่จำเลยหยุดหรือจอดรถรับส่งผู้โดยสารที่ศูนย์รถแห่งอื่นจึงเป็นความผิดตามมาตรา 156 แล้ว แม้จำเลยจะนำรถเข้าหยุดหรือจอดรับผู้โดยสารที่สถานีขนส่งสายเหนือซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดในภายหลังก็ตาม ก็ไม่เป็นการลบล้างการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งได้กระทำมาแล้วให้หมดสิ้นไป
คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 156 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522ครบถ้วนแล้ว แต่เนื่องจากสถานที่หยุดหรือจอดรถยังคงเป็นไปตามประกาศกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่งซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2503 ตามที่มาตรา 164 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ได้บัญญัติไว้ว่าให้นำมาใช้ได้ การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องระบุว่าสถานีขนส่งสายเหนือเป็นสถานีขนส่งตามที่กำหนดไว้และขอระบุประกาศดังกล่าวเป็นพยานเพิ่มเติม ภายหลังจากที่โจทก์สืบพยานหมดไปแล้ว แต่ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี จึงกระทำได้ตาม มาตรา 163 และมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงข้อต่อสู้เพราะจำเลยก็ทราบว่า จำเลยจะต้องหยุดหรือจอดรถรับส่งคนโดยสารที่สถานีขนส่งอยู่แล้ว และการที่โจทก์นำพยานมาสืบเพิ่มเติมภายหลังที่โจทก์ได้แถลงหมดพยานแล้วนั้นก็เป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะสืบพยาน จึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์โดยสารประจำทางรับส่งคนโดยสารจากกรุงเทพมหานครจะไปจังหวัดขอนแก่นโดยไม่นำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับผู้โดยสาร ณ สถานีขนส่งสายเหนือซึ่งเป็นสถานีขนส่งตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศลงวันที่ 26 มกราคม 2503 กำหนดไว้ จำเลยได้ฝ่าฝืนโดยจอดรถที่ศูนย์รถเทพประสาททัวร์บริเวณปากซอยเฉยพ่วงและรับผู้โดยสารประมาณ 30 คน เพื่อจะขนส่งไปจังหวัดขอนแก่น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 19, 156, 164 พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 49 ประกาศกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง ลงวันที่ 26มกราคม 2503 และประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเรื่อง กำหนดประเภทรถที่ต้องเข้าหยุดและจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสาร ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร ลงวันที่ 30 มกราคม 2503

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 19, 156, 164 ฯลฯ ให้ปรับ 5,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยได้นำรถคันเกิดเหตุเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งคนโดยสารที่ศูนย์รถเทพประสาททัวร์ในซอยเฉยพ่วงและต่อมาจำเลยได้หยุดและรับส่งคนโดยสารที่สถานีขนส่งสายเหนือและวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า ที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์นำพระราชบัญญัติการขนส่งพ.ศ. 2497 มาตรา 49 และประกาศกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง ลงวันที่ 26 มกราคม 2503 ซึ่งถูกยกเลิกแล้วมาบังคับแก่จำเลยและลงโทษจำเลยตาม มาตรา 156 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 จึงไม่ชอบนั้น ปัญหาข้อนี้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 164 ได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลมีใจความว่า ในระหว่างที่ยังมิได้มีกฎกระทรวง ข้อกำหนดหรือระเบียบ ออกตามพระราชบัญญัตินี้ให้กฎกระทรวงข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศใด ๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 ฯลฯ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้คงใช้บังคับต่อไป เมื่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 19 ยังไม่ได้กำหนดให้สถานีขนส่งสายเหนือเป็นสถานที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสารไว้เป็นต่างหากจากประกาศของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 26 มกราคม 2503 ดังนั้นจึงต้องนำปกระกาศกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่งซึ่งประกาศโดยอาศัยตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497มาใช้ตามมาตรา 164 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 จึงมิใช่การนำกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาใช้บังคับแก่จำเลยและลงโทษจำเลยดังที่จำเลยฎีกา

ปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยจะได้นำรถคันเกิดเหตุไปหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งคนโดยสารที่ศูนย์รถเทพประสาททัวร์ก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นความผิดเพราะต่อมาจำเลยได้นำรถไปหยุดและจอดรับส่งคนโดยสารที่สถานีรถโดยสารปรับอากาศตามประกาศของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดนั้นวินิจฉัยว่าการหยุดหรือจอดรับส่งผู้โดยสารนั้นจำเลยจะต้องหยุดหรือจอดรถณ สถานที่ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดหรือสถานที่หยุดหรือจอดรถตามที่มาตรา 164 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522บัญญัติไว้เท่านั้น การที่จำเลยหยุดหรือจอดรถรับส่งผู้โดยสารที่ศูนย์รถเทพประสาททัวร์จึงเป็นความผิดตามมาตรา 156 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แล้วดังนั้นการที่จำเลยนำรถเข้าหยุดหรือจอดรับผู้โดยสารที่สถานีขนส่งสายเหนือซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดในภายหลังจึงไม่เป็นการลบล้างกระทำความผิดของจำเลยซึ่งได้กระทำมาแล้วให้หมดสิ้นไปได้ไม่การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดอยู่

ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 156 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 โจทก์เพิ่งขอระบุพยานเพิ่มเติมและขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องภายหลังที่โจทก์แถลงว่าหมดพยานโจทก์แล้วและการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์สืบพยานต่อไปเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบนั้น เห็นว่าคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 156 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522ครบถ้วนแล้ว แต่ที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องและระบุพยานเพิ่มเติมในภายหลังนั้นเนื่องจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางยังมิได้กำหนดให้สถานีขนส่งสายเหนือเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็นสถานีขนส่งสำหรับหยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสารตามมาตรา 19(11) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้เดิม ดังนั้น สถานที่หยุดหรือจอดรถจึงต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่งซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2503 ตามที่มาตรา 164 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติไว้ว่าให้นำมาใช้ได้การที่โจทก์ขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องเมื่อโจทก์สืบพยานไปแล้วนั้น โจทก์ได้ดำเนินการก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี จึงกระทำได้ตาม มาตรา 163 และมาตรา 164แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวแล้วนั้นไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงข้อต่อสู้เพราะจำเลยก็ทราบว่าจำเลยจะต้องหยุดหรือจอดรถรับส่งคนโดยสารที่สถานีขนส่งอยู่แล้ว การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตจึงชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณาความ และการที่โจทก์นำพยานมาสืบเพิ่มเติมภายหลังที่ได้แถลงว่าหมดพยานแล้วนั้นก็เป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะสืบพยานจึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตจึงชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share