คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2935/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ยอมออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 1และไม่ยอมให้โจทก์ที่ 2 ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยอ้างว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าว ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การที่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ได้จะต้องปรากฏว่า บุคคลนั้นมีบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามเกิดในราชอาณาจักรไทยในขณะที่มารดายังคงเป็นคนสัญชาติไทยอยู่ และมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนสัญชาติไทย หาใช่โจทก์ทั้งสามเกิดจากมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ดังนั้น แม้ภายหลังมารดาโจทก์ถูกเพิกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 1(3) โจทก์ทั้งสามก็ไม่ใช่บุคคลที่ต้องถูกเพิกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 โจทก์จึงยังคงเป็นบุคคลสัญชาติไทย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันออกบัตรประจำตัวประชาชนแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งสามเป็นคนต่างด้าว มีสัญชาติญวนและมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ ไม่สามารถมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งสัญชาติโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสามมีสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันออกบัตรประจำตัวประชาชนแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่านายประพนธ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์ เป็นคนสัญชาติไทย ส่วนนางสมใจแซ่เหงียน เกิดในราชอาณาจักรไทย แต่บิดามารดาเป็นคนญวนอพยพและเดิมเป็นคนสัญชาติไทย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2515 นางสมใจถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 เมื่อปีพ.ศ. 2508 นายประพนธ์และนางสมใจแต่งงานกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2511 นายประพนธ์และนางสมใจได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย นายประพนธ์และนางสมใจมีบุตร 3 คนคือ โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามเกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2509,25 มีนาคม 2512 และ 26 พฤษภาคม 2514 ตามลำดับ และเมื่อโจทก์ที่ 1ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จำเลยที่ 1 ได้ออกใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนคืนจากโจทก์ที่ 1 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 เป็นคนญวนอพยพ
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องหรือไม่เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่ามารดาโจทก์ทั้งสามเป็นคนต่างด้าวเป็นคนญวนอพยพ โจทก์ทั้งสามจึงเป็นคนต่างด้าว จำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 1 และไม่ยอมให้โจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานออกบัตรและจำเลยที่ 3เป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติของโจทก์ทั้งสามแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ในปัญหาที่ว่าโจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายประพนธ์กับนางสมใจแต่งงานกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรคือโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1จึงไม่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประพนธ์ ต่อมานายประพนธ์และนางสมใจจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 บัญญัติว่า “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง…” ดังนี้โจทก์ที่ 1 จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประพนธ์และนางสมใจ ส่วนโจทก์ที่ 2 ที่ 3เกิดในระหว่างนายประพนธ์และนางสมใจสมรสกันตามกฎหมายแล้ว จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประพนธ์และนางสมใจ โจทก์ทั้งสามเกิดในราชอาณาจักรไทยจึงเป็นคนสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อนางสมใจมารดาโจทก์ทั้งสามถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 โจทก์ทั้งสามจะต้องถูกเพิกถอนสัญชาติไทยด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 บัญญัติว่า ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
เห็นว่า การที่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวนั้น จะต้องปรากฏว่า บุคคลนั้นมีบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น คดีนี้มารดาโจทก์ทั้งสามเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่บิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมารดาโจทก์ทั้งสามจึงเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) และขณะที่โจทก์ทั้งสามเกิด มารดาโจทก์ทั้งสามยังเป็นคนสัญชาติไทยอยู่ มิใช่คนต่างด้าว นอกจากนี้ถึงแม้มารดาโจทก์ทั้งสามถูกเพิกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เกิด โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีนายประพนธ์เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ หาใช่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เกิดจากมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่โจทก์ทั้งสามจึงมิใช่บุคคลที่ต้องถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุคคลสัญชาติไทยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น แต่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ยังมิได้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ส่วนโจทก์ที่ 1 แม้จะยื่นคำขอดังกล่าวไว้แล้ว เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จะออกบัตรประจำตัวประชาชนให้เมื่อมีหลักเกณฑ์อื่นครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันออกบัตรประจำตัวประชาชนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปทันทีจึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุคคลสัญชาติไทย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

Share