คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2930/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 ยังไม่ได้ประกาศใช้ และไม่ปรากฎจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลศาลจึงจำต้องวินิจฉัยคดีนี้โดยอาศัยเทียบบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 คดีนี้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนตกลงรับขนว่าโจทก์ประสงค์จะให้ขนส่งสินค้าของโจทก์โดยเร็วจึงมีการเปลี่ยนจากเรืออ.เป็นเรือป. แต่ปรากฎว่าเรือป.แล่นออกจากประเทศไทยล่าช้าถึง 1 สัปดาห์ จึงทำให้เรือแล่นไปถึงท่าเรือปลายทางต้องล่าช้าไปด้วย ดังนี้การส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับสินค้าปลายทางล่าช้าเป็นเพราะจำเลยเริ่มทำการขนส่งสินค้าล่าช้าเอง มิได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยจำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 ความเสียหายมิได้เกิดจากตัวสินค้าข้าวโพด หากแต่เกิดจากราคาสินค้าข้าวโพดในตลาดไต้หวันตกต่ำลงในขณะที่มีการส่งมอบชักช้า ผู้ซื้อที่ไต้หวันจึงอาจเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การส่งมอบสินค้าข้าวโพด ชักช้าผิดเวลานั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อไปแล้ว จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายนั้นแก่โจทก์ส่วนค่าเสียหายซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่ธนาคารในประเทศไทยนั้นไม่ใช่ค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการที่จำเลยส่งมอบสินค้าชักช้า และมิใช่ค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยได้คาดเห็นหรือควรเห็นควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 222 เนื่องจากไม่ปรากฎว่าขณะโจทก์และจำเลยทำสัญญารับขนสินค้า และขณะที่จำเลยส่งมอบสินค้าดังกล่าวชักช้า จำเลยได้ทราบอยู่แล้วว่าหากธนาคารในไต้หวันยังไม่จ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแก่ธนาคารในประเทศไทยโจทก์จำเป็นต้องขอเบิกเงินค่าสินค้าจากธนาคารในประเทศไทยไปก่อนโดย โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารดังกล่าวด้วยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งข้าวโพดจำนวน3,080 เมตริกตัน และข้าวฟ่าง จำนวน 1,980 เมตริกตันไปยังท่าเรือเกาซุงโดยตกลงกันให้ขนถ่ายสินค้าของโจทก์ให้เสร็จสิ้นที่ท่าเรือเกาซุงเป็นแห่งแรกหลังจากนั้นจำเลยจัดเรือบรรทุกสินค้าออกจากท่าเรือกรุงเทพ แต่ไม่มุ่งตรงไปแวะจอดที่ท่าเรือเกาซุงเพื่อขนถ่ายสินค้าของโจทก์ก่อน เป็นเหตุให้การขนส่งสินค้าถึงปลายทางล่าช้าจนผู้รับสินค้าปลายทางไม่ยอมรับสินค้า เนื่องจากราคาสินค้าตกต่ำและหมดความจำเป็นทางการค้า ทำให้โจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายเพราะส่งมอบสินค้าล่าช้าเป็นเงิน 696,600 บาท อีกทั้งโจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในประเทศไทย เนื่องจากผู้รับสินค้าปลายทางได้ระงับการชำระเงินค่าสินค้าตามใบสั่งสินค้า 4 ฉบับ ซึ่งโจทก์ได้เบิกเงินค่าสินค้าจากธนาคารดังกล่าวไปก่อนแล้ว เป็นเงิน142,857.65 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 839,457.65 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 839,457.65 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยตกลงรับจัดหาเรือขนส่งสินค้าของโจทก์ไปที่ท่าเรือเกาซุง ไต้หวัน แต่ไม่เคยตกลงว่าเรือจะต้องแวะที่ท่าเรือเกาซุงเพื่อขนถ่ายสินค้าของโจทก์ให้เสร็จสิ้นก่อนเป็นแห่งแรก เรือที่รับขนส่งสินค้าของโจทก์ไม่สามารถแวะขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือเกาซุงได้ก่อน เพราะมีเรือสินค้าลำอื่นจอดขนส่งสินค้าอยู่ การส่งสินค้ามิได้ล่าช้า ผู้รับสินค้าไม่ยอมรับสินค้าของโจทก์เพราะเกิดวิกฤติการณ์ทางการค้าซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย ค่าเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้รับสินค้า และเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินเหตุ จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าข้าวโพดชักช้าหรือไม่ และจำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าของโจทก์ชักช้า ปรากฎว่าขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยังมิได้ประกาศใช้และไม่ปรากฎจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลศาลจึงจำต้องวินิจฉัยคดีนี้โดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้าเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหายหรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งคดีนี้จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า เรือโปยางแคเรียร์ไม่สามารถจอดเทียบท่าเรือเกาซุงได้เพราะมีเรือลำอื่นจอดขนถ่ายสินค้า จึงเป็นเรื่องสุดวิสัย เห็นว่าคดีนี้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนตกลงรับขนว่าโจทก์ประสงค์จะให้ขนส่งสินค้าของโจทก์โดยเร็วจึงมีการเปลี่ยนจากเรือเอ็ลลีมาเป็นเรือโปยางแคเรียร์แล่นออกจากประเทศไทยหลังจากโจทก์ขนสินค้าลงเรือและชำระค่าระวางพาหนะให้จำเลยเสร็จล่าช้าถึง 1 สัปดาห์ จึงทำให้เรือแล่นไปถึงท่าเรือปลายทางต้องล่าช้าไปด้วย ถ้าเรือโปยางแคเรียร์แล่นออกจากประเทศไทยไม่ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมดังกล่าว ก็อาจไม่มีเหตุการณ์ดังที่จำเลยนำสืบเกิดขึ้น ประกอบกับจำเลยไม่มีพยานเอกสารเกี่ยวกับการติดต่อจองท่าเทียบเรือหรือมีระเบียบการใช้ท่าเรือของกรมเจ้าท่าที่เมืองเกาซุงและเอกสารที่แสดงว่า ในวันที่ 17 ถึง 18 มีนาคม 2530 มีเรือลำอื่นได้ใช้ท่าเรือดังกล่าวของกรมเจ้าท่าที่เมืองเกาซุงเป็นทางการมาแสดง หรือมีพยานบุคคลที่เป็นกลางมาเบิกความ ไม่อาจรับฟังได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ท่าเรือเกาซุงดังที่จำเลยนำสืบ ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าต้องรอผลการตรวจหาสารแอลฟาท็อกซินในข้าวโพดก่อนจึงทำให้ก่อนส่งมอบล่าช้านั้น ข้อนี้ปรากฎว่าผู้รับสินค้าเป็นผู้เช่าคลังสินค้าทัณฑ์บนเก็บข้าวโพดในระหว่างที่รอผลการตรวจสอบ โดยไม่ปรากฎว่าจำเลยจะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยอาจดำเนินการขนส่งและส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับสินค้าปลายทางโดยไม่ชักช้าได้ แต่เป็นเพราะจำเลยเริ่มทำการขนส่งสินค้าล่าช้าเอง มิได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยจำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด คดีนี้ความเสียหายเกิดจากราคาสินค้าข้าวโพดในตลาดไต้หวันตกต่ำลงในขณะที่มีการส่งมอบชักช้า มิได้เกิดจากตัวสินค้าข้าวโพด โจทก์ได้ตกลงขายข้าวโพดให้ผู้ซื้อที่ไต้หวัน จำนวน 3,080 ตัน ราคาตันละ 102 ดอลล่าร์สหรัฐ โดยกำหนดให้ส่งไปถึงท่าเรือเกาซุงภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สินค้าลงเรือในประเทศไทยคือวันที่ 6 มีนาคม 2530 แต่ปรากฎว่าจำเลยผู้ขนส่งได้ส่งมอบข้าวโพดของโจทก์ที่ท่าเรือเกาซุงในวันที่ 28 มีนาคม 2530 ล่าช้าเกินกำหนดดังกล่าว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ราคาข้าวโพดในตลาดไต้หวันตกต่ำลงตันละ 10 ถึง 12 ดอลล่าร์สหรัฐ เป็นเหตุให้ผู้ซื้อจะไม่ยอมรับสินค้าของโจทก์ ผู้ซื้อที่ไต้หวันจึงอาจเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การส่งมอบข้าวโพดชักช้าผิดเวลานั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 โจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ซื้อโดยคิดตามราคาข้าวโพดที่ลดลงตันละ 10 ดอลล่าร์สหรัฐจำนวน 3,000 ตันเศษเป็นเงิน 27,000 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย696,600 บาท จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ส่วนค่าเสียหายจำนวน 142,857.65 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่ธนาคารในประเทศไทยนั้นปรากฎว่า หลังจากส่งสินค้าลงเรือแล้วโจทก์ได้นำเอาหลักฐานการส่งสินค้าไปขอรับเงินจากธนาคารในประเทศไทยที่รับเลตเตอร์ออฟเครดิตจากธนาคารในไต้หวันแต่เมื่อปรากฎว่าจำเลยส่งมอบสินค้าชักช้า ธนาคารในไต้หวันจึงยังไม่จ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแก่ธนาคารในประเทศไทยจนกว่าโจทก์จะทำความตกลงกับผู้ซื้อได้ธนาคารในประเทศไทยจึงจ่ายเงินค่าสินค้าให้โจทก์ไปก่อนโดยคิดหักดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวออกจากเงินค่าสินค้าแล้วจึงจ่ายเงินที่เหลือนั้นให้โจทก์ เห็นว่าค่าดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการที่จำเลยส่งมอบสินค้าข้าวโพดและข้าวฟ่าง ชักช้า และมิใช่ค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222เนื่องจากไม่ปรากฎว่าขณะโจทก์และจำเลยทำสัญญารับขนสินค้าข้าวโพดและข้าวฟ่าง และขณะที่จำเลยส่งมอบสินค้าดังกล่าวชักช้า จำเลยได้ทราบอยู่แล้วว่าหากธนาคารในไต้หวันยังไม่จ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแก่ธนาคารในประเทศไทย โจทก์จำเป็นต้องขอเบิกเงินค่าสินค้าจากธนาคารในประเทศไทยไปก่อนโดยโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารดังกล่าวด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 696,600 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share