คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2511/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มีผู้ลักเช็คของโจทก์ไปปลอมลายมือชื่อโจทก์ 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงิน 54,000 บาท และ 240,000 บาท ตามลำดับ แล้วนำไปเบิกเงินจากธนาคารจำเลย สาขากาญจนบุรี ซึ่งโจทก์มีบัญชีกระแสรายวันอยู่ช. เป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขา และ ป. เป็นสมุห์บัญชีของธนาคารจำเลย มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจลายมือชื่อของลูกค้าโดยตรงอยู่ตลอดเวลา ย่อมมีความชำนาญในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของลูกค้ามากกว่าคนธรรมดา หากได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยละเอียดรอบคอบ จะต้องทราบว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเป็นลายมือปลอม แต่ ช. และ ป. ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้โจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงกันไว้ตามข้อความในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน ในข้อ 20 ว่า หากผู้ฝากละเลยหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปปลอมลายมือชื่อของผู้สั่งจ่าย และธนาคารหลงเชื่อจ่ายเงินตามเช็คปลอมนั้น ๆ ไป ธนาคารไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ฝากสำหรับเงินจำนวนที่จ่ายไปนั้นก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวจำเลยจะยกขึ้นอ้างได้ก็ต่อเมื่อจำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือของผู้สั่งจ่ายโดยสุจริตและใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีแล้ว จำเลยจะอ้างเอาข้อตกลงดังกล่าวมาเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008วรรคแรก ตอนท้าย หาได้ไม่ หนี้อันเกิดจากการละเมิดที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณโดยถือความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าโจทก์จะต้องร่วมรับผิดด้วยก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างประมาทเลินเล่อด้วยกัน ศาลย่อมกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ลดลงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นสาขาของธนาคารกสิกรไทย จำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับจำเลยได้มีคนร้ายลักเอาเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัดสาขากาญจนบุรี ของโจทก์ไป 2 ฉบับ แล้วคนร้ายได้นำเช็คทั้งสองฉบับลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมเป็นผู้สั่งจ่ายและกรอกข้อความในเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวนเงิน 54,000 บาท และ 240,000 บาท ตามลำดับไปเบิกเงินจากธนาคาร ธนาคารได้จ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับไปรวมเป็นเงิน 294,000 บาท จำเลยจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับโดยประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อของโจทก์แท้จริงหรือไม่แล้วจำเลยได้หักเงินในบัญชีของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องคืนเงินจำนวน 294,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ใช้เงินให้แก่บุคคลผู้มาขอขึ้นเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับรวม 294,000 บาท ไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อโดยตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คทั้งสองฉบับแล้วไม่มีเหตุชวนสงสัยว่ามิใช่ลายมือชื่อของโจทก์และโจทก์เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นเอง จำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน294,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในเช็คพิพาท 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงิน 54,000 บาท และ 240,000 บาทตามลำดับ แล้วนำไปเบิกเงินจากธนาคารจำเลย นายชูชาติอังสถิตย์อนันต์ ผู้ช่วยผู้จัดการเป็นผู้ตรวจลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คฉบับแรก และนายประดิษฐ์ หว่านพืช สมุห์บัญชีเป็นผู้ตรวจลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คฉบับที่สอง แล้วอนุมัติให้จ่ายเงินตามเช็คไป ศาลฎีกาเห็นว่า นายชูชาติมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขา และนายประดิษฐ์มีตำแหน่งเป็นสมุห์บัญชีประจำสาขาของจำเลยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจลายมือชื่อของลูกค้าโดยตรงอยู่ตลอดเวลา บุคคลทั้งสองย่อมมีความชำนาญในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของลูกค้ามากกว่าคนธรรมดาหากได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยละเอียดรอบคอบตรวจสอบลายมือชื่อตามควรก็จะต้องทราบว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือปลอม การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า โจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงกันไว้ตามข้อความในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันตามเอกสารหมาย ล.1 โดยเฉพาะข้อ 20 ว่าหากผู้ฝากละเลยหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปปลอมลายมือชื่อของผู้สั่งจ่าย และธนาคารหลงเชื่อจ่ายเงินตามเช็คปลอมนั้น ๆ ไปธนาคารไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ฝากสำหรับเงินจำนวนที่จ่ายไปนั้นเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวจำเลยจะยกขึ้นอ้างได้ก็ต่อเมื่อจำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายโดยสุจริตและใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีแล้ว มิใช่เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังตามสมควรดังเช่นกรณีนี้ เมื่อการสั่งจ่ายเงินตามเช็คพิพาทของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทย่อมเป็นละเมิดและต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยจะอ้างเอาข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 20มาเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1008 วรรคแรก ตอนท้าย หาได้ไม่
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าโจทก์จะต้องร่วมรับผิดด้วยก็ตามแต่หนี้อันเกิดจากการละเมิดที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณโดยถือความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร กรณีนี้โจทก์จำเลยต่างก็ขาดความระมัดระวังด้วยกันศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน147,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 147,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์

Share