คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 293/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ระบุว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ พ. กระทำการและดำเนินการแทนในกิจการดังต่อไปนี้… เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง… เพื่อป้องกันรักษาผลประโยชน์หรือสิทธิต่าง ๆ รวมทั้งทรัพย์สินของโจทก์ การมอบอำนาจในลักษณะนี้แม้จะเป็นการมอบอำนาจทั่วไปตามมาตรา 801 แห่ง ป.พ.พ. แต่ก็มีการมอบอำนาจรวมถึงการฟ้องคดีแทนด้วย ทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีก็ไม่จำต้องระบุบุคคลที่ต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด และแม้ว่าขณะมอบอำนาจมูลหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ทำให้ใบมอบอำนาจดังกล่าวเสียไป พ. จึงมีอำนาจฟ้อง และมีอำนาจตั้งทนายความฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 801 (5)
การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอน และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้น เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องไม่ได้ เมื่อหนี้ของจำเลยที่ 1 ถึงกำหนดชำระแล้ว โจทก์ยังมิได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ หาใช่เป็นการยอมผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามมาตรา 700 แห่ง ป.พ.พ. อันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๒๔๙,๔๔๕,๑๕๙.๔๒ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ในต้นเงิน ๑๖๑,๒๑๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ ถ้าไม่พอชำระให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ
จำเลยที่ ๑ ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยังไม่ต้องรับผิด เพราะโจทก์ต้องบังคับเอาจากหลักทรัพย์ที่จำนองก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑,๓๘๕,๔๓๓.๓๓ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ในต้นเงิน ๑,๒๑๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๑๖๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ จนถึงวันที่ชำระเสร็จโดยให้หักเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ออกจากดอกเบี้ยข้างต้นก่อน หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๘๓๗ ตำบลบางโพงพาง อำเภอเมือง จังหวัดนครเขื่อนขันธ์ (กรุงเทพมหานคร) พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้จนครบ และถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๑๖๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จ โดยให้หักเงินจำนวน ๑,๗๑๗,๒๐๐.๗๔ บาท ออกจากดอกเบี้ยข้างต้นก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางพรรณวดีฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนางพรรณวดีมาเบิกความยืนยันว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นางพรรณวดีเป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน และหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวระบุว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นางพรรณวดีกระทำการและดำเนินการแทนในกิจการดังต่อไปนี้… เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง… เพื่อป้องกันรักษาผลประโยชน์หรือสิทธิต่าง ๆ รวมทั้งทรัพย์สินของโจทก์ การมอบอำนาจในลักษณะนี้แม้จะเป็นการมอบอำนาจทั่วไปตามมาตรา ๘๐๑ แห่ง ป.พ.พ. แต่ก็มีการมอบอำนาจรวมถึงการฟ้องคดีแทนด้วย ทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีก็ไม่จำต้องระบุบุคคลที่ต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด และแม้ว่าขณะมอบอำนาจมูลหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่ทำให้ใบมอบอำนาจดังกล่าวเสียไป นางพรรณวดีจึงมีอำนาจฟ้อง รวมทั้งมีอำนาจตั้งทนายความฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๘๐๑ (๕) แห่ง ป.พ.พ.
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการต่อไปมีว่า โจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ ๑ อันจะเป็นผลให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดหรือไม่ เห็นว่า การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอน และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้น เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องไม่ได้ กรณีเมื่อหนี้ของจำเลยที่ ๑ ถึงกำหนดชำระแล้ว การที่โจทก์เพียงแต่ยังมิได้ทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้นั้น หาใช่เป็นการยอมผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามมาตรา ๗๐๐ แห่ง ป.พ.พ. อันจะมีผลทำให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ ๒๐,๐๐๐ บาท.

Share