คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 293/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตกลงยอมความกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกันเองโดยศาลมิได้เกี่ยวข้องด้วยนั้น หากต่อมาปรากฏว่าพฤติการณ์รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1596 ได้
ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลจะสั่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1596 นั้น ต้องเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จะพึงต้องชำระในอนาคต จะสั่งย้อนไปเกี่ยวกับเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ค้างชำระอยู่ก่อนแล้วหาได้ไม่
การที่บุคคลจะไม่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้อื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1595 นั้น มุ่งหมายสำหรับงวดกาลข้างหน้าเท่านั้น ส่วนการอุปการเลี้ยงดูที่ค้างเกี่ยวอยู่ในครั้งอดีตนั้น ยังคงตกเป็นภาระในอันที่จะต้องรับผิดต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยสมรสกันตามกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2497 เกิดบุตร 1 คน คือ เด็กหญิงสุวารี อายุ 6 ขวบ อยู่ในความปกครองของโจทก์ เมื่อ 21 ตุลาคม 2498 โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันตามที่อำเภอเปรียบเทียบ โดยจำเลยยอมใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ 180 บาท จำเลยได้จ่ายค่าอุปการะเต็มจำนวนอยู่ 3 เดือน ต่อมาก็ชำระไม่ครบบ้าง ไม่ชำระบ้าง คงค้างถึงเดือนเมษายน 2504 รวมเป็นเงิน 4,660 บาท จึงขอให้จำเลยชำระ กับให้จ่ายค่าเลี้ยงดูต่อไป แต่วันฟ้องเดือนละ 180 บาทตามยอมจนกว่าเด็กหญิงสุวารีจะบรรลุนิติภาวะ

จำเลยให้การว่าได้จ่ายให้โจทก์รับไปไม่มีติดค้าง หากจะค้างก็ไม่เกิน 3,500 บาท ขณะนี้จำเลยมีฐานะยากจน ไม่มีทรัพย์พอจะอุปการะโจทก์ ทั้งโจทก์ไม่เดือนร้อนที่จำเลยตกลงให้ค่าอุปการะแก่โจทก์ เพราะขณะนั้นจำเลยยังไม่มีบุตรภริยา บัดนี้ ฐานะจำเลยเปลี่ยนแปลงไปมีภาระเพิ่มขึ้น โดยมีภริยาใหม่ และบุตร 1 คนทั้งต้องเลี้ยงดูมารดาผู้ชราและให้การศึกษาน้อง จึงขอให้ค่าเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เพียงเดือนละ 50 บาท

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยค้างจ่ายเงินค่าอุปการะบุตรแก่โจทก์3,500 บาท แต่เนื่องจากจำเลยมีเงินเดือนสุทธิเดือนละ 560 บาทและมีบุตรภริยาใหม่ ทั้งโจทก์มีสามีใหม่พอจะเลี้ยงดูบุตรได้อยู่ควรกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเดือนละ 75 บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะค้าง 3,500 บาท กับค่าอุปการะตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2504 เป็นรายเดือน เดือนละ 75 บาท

จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ได้ค้างชำระ หากจะค้างจำเลยก็มีฐานะยากจน ไม่สามารถที่จะชำระให้ได้ โดยไม่เป็นภัยแก่ตนเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับเอาจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1595

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยค้างชำระเงิน 3,500 บาท จริง แต่ฐานะของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจนเห็นได้ว่าจำเลยไม่สามารถที่จะให้ค่าอุปการะบุตรที่ค้างแก่โจทก์โดยไม่เป็นภัยแก่ตนเองตามสมควรแก่ฐานะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1595, 1596 ได้จึงพิพากษาแก้ว่าจำเลยไม่ต้องชำระเงินค่าอุปการะที่ค้าง 3,500 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาว่า เงิน 3,500 บาท เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยสัญญาก่อนที่ศาลจะสั่งลดค่าอุปการะเลี้ยงดู ทั้งจำเลยก็สามารถจะชำระหนี้จำนวนนี้ได้ จึงขอให้จำเลยชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมีการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูแล้วก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้มากน้อยและตามระยะเวลาอย่างไรเป็นราย ๆ ไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1594, 1595 หากพฤติการณ์ รายได้ ฐานะ เปลี่ยนแปลงไป ศาลก็ย่อมสั่งเพิกถอนลด เพิ่ม กลับให้อุปการะอีกก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1596 ทั้งนี้จึงส่อว่าค่าอุปการะเลี้ยดูที่กำหนดไว้แล้วนั้นจะต้องอยู่เรื่อยไปจนกว่าศาลจะสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียร้องขอขึ้นมา สำหรับคดีนี้ แม้ในชั้นต้นคู่กรณีจะตกลงกำหนดค่าอุปการะในการยอมความกันเองโดยศาลมิได้เกี่ยวข้องก็ดี ก็นับว่า เป็นข้อตกลงอันมีผลใช้บังคับเช่นเช่นเดียวกันซึ่งถ้าจำเลยเห็นว่าค่าเลี้ยงดูที่เต็มใจให้ไว้เดิมนั้นต่อมาฐานะจำเลยค่นแค้นลง ก็ชอบที่จะขอลดหย่อนลงได้โดยการร้องขอต่อศาล ขอให้กำหนดค่าอุปการะเสียใหม่ให้น้อยลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นหนี้ที่ค้างชำระ สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าเป็นหนี้ตามสัญญายอมที่จำเลยทำให้ไว้ในการหย่าขาดกับโจทก์ ซึ่งถ้าจำเลยปฏิบัติชำระหนี้นี้รายเดือนตามที่ตกลงไว้ โจทก์ก็ย่อมได้รับไปครบถ้วนแล้วหนี้จำนวนนี้จึงเป็นหนี้ค้างชำระตามข้อสัญญา ไม่ใช่หนี้ที่จะพึงชำระในอนาคต จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอเพิกถอนหรือขอลดลงได้ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1595 นั้น ก็มุ่งหมายว่าบุคคลที่มีหน้าที่ต้องอุปการะผู้อื่นนั้น ถ้าเกิดหมดความสามารถที่จะอุปการะ ก็จะเลิกการให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับงวดกาลข้างหน้านั้นเสียได้ แต่หนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ค้างเกี่ยวอยู่ในครั้งอดีตกาลนั้น ยังคงตกเป็นภาระของผู้เป็นลูกหนี้ในอันที่จะต้องรับผิดต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง เพราะพฤติการณ์อันจำเป็นเกิดขึ้นภายหลัง

พิพากษากลับ บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share