คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากรมาตรา77/1(ข)(ฉ)”ขาย”หมายความว่าจำหน่ายจ่ายโอนสินค้าไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่และให้หมายความรวมถึงมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการณวันเลิกประกอบกิจการด้วยโจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เลิกประกอบกิจการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการณวันเลิกประกอบกิจการตามมาตราดังกล่าวเพราะถือว่าเป็นการขายแล้วซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการแม้กิจการของโจทก์จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา81(1)(ข)แต่ทรัพย์สินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร(ฉบับที่244)มาตรา3(5)ได้กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการแต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในการเกษตรกรรมเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรการขายที่ดินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบการเกษตรกรรมซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา3(5)แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจึงย่อมได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวยกเว้นให้เฉพาะที่ดินเท่านั้นไม่รวมถึงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเมื่อโจทก์ขายที่ดินรวมทั้งอาคารบนที่ดินนั้นโจทก์จึงต้องนำรายรับของราคาอาคารมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ประกอบธุรกิจเลี้ยงนกกระทาและการฟักไข่นกกระทาเพื่อจำหน่าย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมากิจการประสบภาวะขาดทุน ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นจึงมีมติให้เลิกบริษัท ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินจากจำเลยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จำนวน 680,130 บาท กิจการของโจทก์เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81(1)(ข)การขายทรัพย์สินเพื่อเลิกกิจการย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย แม้โจทก์จะได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ก็เป็นการจดทะเบียนไปตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของจำเลย จึงไม่ทำให้โจทก์มีภาระต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเนื่องจากกิจการของโจทก์เป็นกิจการเพื่อเกษตรกรรมเพราะเป็นการใช้ที่ดินเพื่อการเลี้ยงสัตว์ การขายที่ดินดังกล่าวจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามนัยแห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 มาตรา 3(5) ขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.73.1เลขที่ 1016/5/113843 และเลขที่ 1016/5/113844 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2538 หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ.73.1เลขที่ 106/6/100110 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 229/2539/1 และเลขที่230/2538/1 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2538 และขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 โจทก์ได้ขายทรัพย์สินรถจักรยานเครื่องใช้สำนักงาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ ตู้เย็น ตู้แช่โต๊ะรับประทานอาหาร เครื่องต้มไข่ อุปกรณ์โรงงาน และเครื่องปรับอากาศรวมเป็นเงิน 305,500 บาท อันเป็นสินค้าคงเหลือหรือทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการซึ่งถือเป็นการขายสินค้าที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อการใด ๆ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ของราคาขายพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มและโจทก์ได้ขายที่ดินพร้อมอาคารอันเป็นที่ดินและอาคารที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงต้องรับผิดเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3 ของรายรับพร้อมดอกเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้แก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1)เลขที่ 1016/5/113843 และเลขที่ 1016/5/113844 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ 229/2538/1 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2538โดยให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 และให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) เลขที่ 1016/6/100110ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2538 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ 230/2538/1ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2538 โดยให้ทำการประเมินใหม่เฉพาะรายรับในส่วนของอาคารโดยถือเอาราคาตลาด ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2536เป็นเกณฑ์ในการประเมินและให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความรับกันและไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ประกอบธุรกิจการเลี้ยงนกกระทาและการฟังไข่นกกระทาเพื่อจำหน่ายเนื้อและไข่สดตามตลาดและส่งขายให้โรงงานเพื่อบรรจุกระป๋อง เมื่อวันที่ 5พฤศจิกายน 2534 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อมากิจการของโจทก์ขาดทุนโจทก์จึงจดทะเบียนเลิกบริษัทมีนายสุพจน์เสถียรวิจิตร เป็นผู้ชำระบัญชี ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2536 โจทก์ได้ขายทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการไปเป็นเงิน 305,500 บาท และโจทก์ยังขายที่ดินและอาคารที่มีไว้ในการประกอบกิจการเป็นเงิน 6,000,000 บาท โจทก์มิได้นำรายรับดังกล่าวมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะตามลำดับ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า การขายทรัพย์สินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1(8)(ฉ) “ขาย” หมายความว่าจำหน่าย จ่ายโอนสินค้าไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่และให้หมายความรวมถึงมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการเห็นว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เลิกประกอบการจดทะเบียนที่เลิกประกอบกิจการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการตามมาตราดังกล่าว ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการ การที่โจทก์ขายทรัพย์สินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการไปเป็นเงิน 305,500 บาท นั้น ถือว่าเป็นการขายตามมาตราดังกล่าวแล้ว จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่ากิจการของโจทก์ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81(1)(ข) การขายทรัพย์สินเมื่อเลิกกิจการย่อมได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนั้น เห็นว่าการขายทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์เป็นการขายทรัพย์สินที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า การขายที่ดินและอาคารที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์อุทธรณ์ว่าอาคารโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเป็นส่วนควบของที่ดินที่มีไว้ใช้ในกิจการเลี้ยงนกกระทาซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ โจทก์มีไว้ในกิจการเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนจำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ขายที่ดินและอาคารที่ใช้ในการประกอบกิจการก็เนื่องจากเจตนาต้องการเลิกกิจการจึงจำเป็นต้องขายเพื่อคืนเงินแก่ผู้ถือหุ้นและชำระบัญชีการขายที่ดินและอาคารดังกล่าวจึงเป็นขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2(6) ซึ่งบัญญัติให้การประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)พ.ศ. 2534 มาตรา 3(5) ได้กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในการเกษตรกรรม เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไรเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินที่โจทก์ขายไปนั้นเป็นที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม ดังนั้น การขายที่ดินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบการเกษตรซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจึงย่อมได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวยกเว้นให้เฉพาะที่ดินเท่านั้น ไม่รวมถึงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เมื่อโจทก์ขายที่ดินรวมทั้งอาคารบนที่ดินนั้น การขายเช่นนี้โจทก์จึงต้องนำรายรับของราคาอาคารมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share