คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2929/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคทั้งสี่ให้ดำเนินคดีแทนแล้วโจทก์จึงมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีอำนาจฟ้องคดีแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง กรณีไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจตามฎีกาของจำเลย
คดีนี้โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแล้ว จึงเป็นกรณีที่พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีเอง มิใช่ผู้บริโภคเป็นผู้ฟ้อง ผู้บริโภคจึงไม่จำต้องแต่งตั้งพนักงานอัยการให้ฟ้องคดี
แม้สัญญาจะซื้อจะขายมิได้ระบุว่าจำเลยต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จเมื่อใด แต่ผู้บริโภคตกลงจะซื้อบ้านตั้งแต่ปี 2536 และผ่อนชำระเงินดาวน์เรื่อยมาจนครบตามสัญญาในปี 2538 ประกอบกับสัญญาระบุว่า ผู้จะขายจะจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินได้ภายหลังจากผู้บริโภคชำระเงินดาวน์ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ดังนั้น จึงเป็นการคาดการณ์ของคู่สัญญาได้ว่าจำเลยจะต้องก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในปี 2539 หรือ ปี 2540 เป็นอย่างช้า แต่จำเลยกลับก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและละทิ้งการก่อสร้างจนถึงปี 2546 โดยจำเลยไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อแต่ปล่อยทิ้งร้างไว้ถึง 5 ปี จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ระบุทำนองเดียวกันว่าให้ผู้บริโภคชำระเงินดาวน์ 15 งวด เมื่อผู้บริโภคชำระเงินดาวน์ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคย่อมเกิดขึ้นเมื่อได้ชำระเงินดาวน์ครบถ้วน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ซึ่งนับจากวันครบกำหนดชำระเงินดาวน์ของผู้บริโภคจนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวลักษณวดีชำระเงินจำนวน 138,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางจุฑาทิพย์หรือกัญญาวีร์ ชำระเงินจำนวน 143,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่พลอากาศเอกปรีชาและชำระเงินจำนวน 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่นายขจรหรือธนทัศน์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่นางสาวลักษณวดี ให้จำเลยชำระเงิน 138,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่นางจุฑาทิพย์หรือกัญญาวีร์ ให้จำเลยชำระเงิน 143,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่พลอากาศเอกปรีชาและให้จำเลยชำระเงิน 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่นายขจรหรือธนทัศน์กับให้จำเลยใช้ค่าทนายความแก่โจทก์เป็นเงิน 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากผู้บริโภคทั้งสี่ไม่ได้ระบุมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคทั้งสี่หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 10 บัญญัติว่า “คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้… (7) ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่คณะกรรมการเห็นสมควรหรือมีผู้ร้องขอตามมาตรา 39” และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค หรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการหรือข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล และเมื่อคณะกรรมการได้แจ้งไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อแจ้งให้ศาลทราบแล้ว ให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจดำเนินคดีตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้” เมื่อปรากฏว่า คดีนี้ผู้บริโภคทั้งสี่ได้ร้องเรียนต่อโจทก์โดยระบุในบันทึกคำร้องเรียนว่า ขอให้โจทก์ดำเนินการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและเรียกเงินที่ชำระแล้วคืนกับหากจำเป็นก็ขอให้โจทก์ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคทั้งสี่ดังปรากฏ รายละเอียดตามบันทึกคำร้องเรียนเอกสารหมาย จ. 6, จ. 15, จ. 21 และ จ. 29 ตามเอกสารดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคทั้งสี่ให้ดำเนินคดีนี้แทนผู้บริโภคทั้งสี่แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีอำนาจฟ้องคดีแก่จำเลยตามกฎหมายดังกล่าวได้ ทั้งเป็นการดำเนินคดีเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม ดังนั้น กรณีจึงไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจตามฎีกาของจำเลย โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยชอบ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้บริโภคทั้งหลายไม่ได้แต่งตั้งพนักงานอัยการให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนผู้บริโภคทั้งสี่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแล้ว จึงเป็นกรณีที่พนักงานอัยการมีอำนาจที่จะฟ้องคดีเอง มิใช่ผู้บริโภคทั้งสี่เป็นผู้ฟ้อง ผู้บริโภคทั้งสี่จึงไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งพนักงานอัยการให้ฟ้องคดี ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้สัญญาจะซื้อจะขายทั้งสี่ฉบับมิได้ระบุว่าจำเลยต้องก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเมื่อใด แต่ผู้บริโภคทั้งสี่ตกลงจะซื้อบ้านดังกล่าวตั้งแต่ปี 2536 และได้ผ่อนชำระเงินดาวน์เรื่อยมาจนครบตามสัญญาในปี 2538 ประกอบกับสัญญาระบุว่าผู้จะขายจะจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินได้ภายหลังจากผู้บริโภคทั้งสี่ชำระเงินดาวน์ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นที่คาดการณ์ของคู่สัญญาได้ว่าจำเลยจะต้องก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในปี 2539 หรือปี 2540 เป็นอย่างช้า แต่จำเลยกลับก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและละทิ้งการก่อสร้างจนถึงปี 2546 โดยจำเลยไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อแต่ปล่อยทิ้งร้างไว้ถึง 5 ปี จึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และผู้บริโภคทั้งสี่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยถือว่าได้ให้เวลาจำเลยในการปฏิบัติตามสัญญาพอสมควรแล้ว การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายโดยกำหนดเวลาให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายใน 15 วัน จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายทั้ง 4 ฉบับ ระบุทำนองเดียวกันว่า ให้ผู้บริโภคทั้งสี่ชำระเงินดาวน์ 15 งวด โดยงวดที่ 15 ขยายเป็น 8 งวด การชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายสำหรับผู้บริโภครายแรกชำระวันที่ 25 กันยายน 2538 ผู้บริโภครายที่สองชำระวันที่ 18 พฤศจิกายน 2538 ผู้บริโภครายที่สาม ชำระวันที่ 13 มิถุนายน 2539 และผู้บริโภครายที่สี่ชำระวันที่ 4 ธันวาคม 2538 เมื่อผู้บริโภคทั้งสี่ชำระเงินดาวน์ทั้งหมดครบถ้วนแล้ว ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคย่อมเกิดขึ้นเมื่อได้ชำระเงินดาวน์ครบถ้วน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ซึ่งนับจากวันครบกำหนดชำระเงินดาวน์ของผู้บริโภคตั้งแต่รายแรกถึงรายที่ 4 จนถึงวันฟ้องจึงยังไม่เกิน 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share