คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2929/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า สินค้าของโจทก์เป็นเส้นใยฝ้ายจำนวน408 กล่อง น้ำหนัก 2,900 กิโลกรัม สูญหายทั้งหมด ซึ่งจำเลยก็ให้การรับว่าสินค้าของโจทก์ตกลงไปในทะเลและสูญหายทั้งหมด แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว รายการสินค้าที่เสียหายมีอย่างไรเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา หาจำต้องบรรยายมาในฟ้องไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม คดีนี้เป็นเรื่องรับขนของทางทะเล ซึ่งขณะเกิดข้อพิพาทพระราชบัญญัติ การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับทั้งไม่ปรากฏคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นว่าด้วยรับขนของทางทะเลจึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเพียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันได้แก่ บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 รับขน มาตรา 616 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยเมื่อปรากฏว่า การบรรทุกสินค้าของจำเลยไม่รัดกุมพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อุปกรณ์ผูกรัดตลอดจนวิธีการผูกรัดตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคงพอที่จะป้องกันความเสียหายอันเกิดจากคลื่นลมแรงได้ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าการขนส่งสินค้าทางทะเลโดยเรือสินค้ามรสุมคลื่นลมแรงในทะเลย่อมเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ทั้งไม่ปรากฏว่าไม่อาจหาวิธีการอื่นใดในการผูกรัดและป้องกันการตกลงไปในทะเลของตู้คอนเทนเนอร์ให้ดีกว่าที่ปฏิบัติแล้วได้ และก่อนที่เรือจำเลยจะออกจากช่องแคบอังกฤษ ได้ทราบข่าวการพยากรณ์อากาศว่าจะเกิดคลื่นลมแรงแล้ว ดังนั้น หากนายเรือของจำเลยจะหยุดเรืออยู่ที่ช่องแคบอังกฤษรอจนกว่าคลื่นลมในอ่าวบิสเคย์สงบก่อนจึงค่อยออกเรือต่อไป ภัยพิบัติก็จะไม่เกิด จึงเป็นเรื่องที่นายเรือของจำเลยจะป้องกันได้ การที่นายเรือจำเลยอ้างว่าได้ทราบพยากรณ์อากาศแล้วยังเดินเรือต่อไป เพราะเห็นว่าไม่เป็นอันตรายสำหรับเรือขนาดบรรทุก 20,500 ตัน นับว่าเป็นความประมาทของนายเรือจำเลยโดยแท้ ฉะนั้นจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย เมื่อจำเลยมีภาระในการพิสูจน์ถึงเหตุสุดวิสัยเพื่อให้พ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 616 แต่นำสืบไม่ได้ตามคำให้การ จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2530 โจทก์สั่งซื้อเส้นใยฝ้ายจำนวน 408 กล่อง น้ำหนัก 2,900 กิโลกรัม จากบริษัทผู้ขายในประเทศเยอรมันและผู้ขายได้มอบหมายให้บริษัทส.เป็นผู้จัดส่งสินค้าดังกล่าวมายังประเทศไทย บริษัทส.จ้างจำเลยขนส่งสินค้ารายนี้ โดยบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์และนำลงเรือชื่อ บางกอกนาวีต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2531 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่าระหว่างการขนส่งนั้นสินค้าของโจทก์ทั้งหมดตกลงไปในทะเลและสูญหายทำให้โจทก์ไม่ได้รับสินค้า คิดเป็นค่าเสียหายตามมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นเงิน 310,732.51 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 310,732.51 บาท กับดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า สินค้าของโจทก์สูญหายเพราะเหตุสุดวิสัยเนื่องจากในระหว่างขนส่งมาทางทะเลประสบมรสุมคลื่นลมแรงจัดและโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายสูงเกินความจริง โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายว่าทรัพย์ที่เสียหายมีอะไรบ้าง จำนวนกี่รายการและแต่ละรายการเสียหายอย่างไรขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 310,732.51 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า สินค้าของโจทก์เป็นเส้นใยฝ้ายจำนวน 408 กล่อง น้ำหนัก 2,900 กิโลกรัม สูญหายทั้งหมดซึ่งจำเลยก็ให้การรับว่าสินค้าของโจทก์ตกลงไปในทะเลและสูญหายทั้งหมด แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว รายการสินค้าที่เสียหายมีอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาหาจำต้องบรรยายมาในฟ้องไม่
ประเด็นต่อมามีว่า สินค้าของโจทก์สูญหายเพราะเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่านายเรือของจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังในการเดินเรืออย่างเพียงพอแล้ว หากแต่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติและเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องรับขนของทางทะเล ซึ่งขณะเกิดข้อพิพาทพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับ ทั้งไม่ปรากฏคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นว่าด้วยรับขนของทางทะเลจึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเพียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันได้แก่ บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะ 8 รับขนมาตรา 616 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะเกิดเหตุเกิดพายุลมแรง เรือบางกอกนาวีที่บรรทุกสินค้ารายพิพาทกำลังแล่นอยู่ในบริเวณอ่าวบิสเคย์ สินค้าของโจทก์ซึ่งบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ตั้งอยู่บนดาดฟ้าเรือ จำเลยนำสืบว่าคลื่นลมแรงจัด ซัดน้ำทะเลเข้าหาตัวเรือและดาดฟ้าเรือกระแทกตู้คอนเทนเนอร์จนลวดสลิงและโซ่ที่ใช้ผูกรัดตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกสินค้าของโจทก์ติดกับตู้คอนเทนเนอร์อีก 2 ตู้อาจจะยืดหรือขาดทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสามตู้ตกลงไปในทะเล จากการนำสืบของจำเลยดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ชัดว่า การบรรทุกสินค้าไม่รัดกุมพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อุปกรณ์ผูกรัดตลอดจนวิธีการผูกรัดตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคงพอที่จะป้องกันความเสียหายอันเกิดจากคลื่นลมแรงได้ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าการขนส่งสินค้าทางทะเลโดยเรือสินค้ามรสุมคลื่นลมแรงในทะเลย่อมเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าไม่อาจหาวิธีการอื่นใดในการผูกรัดและป้องกันการตกลงไปในทะเลของตู้คอนเทนเนอร์ให้ดีกว่าที่ปฏิบัติแล้วได้ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายเรือลำที่เกิดเหตุว่า ก่อนที่เรือจำเลยจะออกจากช่องแคบอังกฤษได้ทราบข่าวการพยากรณ์อากาศว่าจะเกิดคลื่นลมแรงมาก่อนแล้วดังนั้น หากนายเรือของจำเลยจะหยุดเรืออยู่ที่ช่องแคบอังกฤษรอจนกว่าคลื่นลมในอ่าวบิสเคย์สงบก่อน จึงค่อยออกเรือต่อไป ภัยพิบัติก็ไม่เกิด จึงเป็นเรื่องที่นายเรือของจำเลยจะป้องกันได้ การที่นายเรือจำเลยอ้างว่าได้ทราบพยากรณ์อากาศแล้วยังเดินเรือต่อไปเพราะเห็นว่าไม่เป็นอันตรายสำหรับเรือขนาดบรรทุก 20,500 ตัน นับว่าเป็นความประมาทของนายเรือจำเลยโดยแท้ ฉะนั้น จึงมิใช่เหตุสุดวิสัยดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยมีภาระในการพิสูจน์ถึงเหตุสุดวิสัยเพื่อให้พ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616แต่นำสืบไม่ได้ตามคำให้การจำเลยก็ต้องรับผิด
พิพากษายืน

Share