คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 609/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การปฏิเสธลายมือชื่อในสัญญากู้ว่าไม่ใช่ของจำเลยเท่ากับปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารและกล่าวอ้างว่าหนี้นั้นไม่สมบูรณ์ ศาลจึงจำต้องใช้สัญญากู้มาเป็นพยานหลักฐานในคดีเมื่อสัญญากู้ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ถือว่าสัญญากู้ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จึงไม่อาจรับฟังสัญญากู้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แม้จำเลยจะเบิกความรับว่าลายมือชื่อในสัญญากู้เป็นของจำเลย ก็เป็นเรื่องในชั้นพิจารณาว่าข้อเท็จจริงในประเด็นที่จำเลยต่อสู้ไว้ฟังได้เพียงใด ไม่ใช่กรณีที่ไม่ต้องใช้เอกสารสัญญากู้เป็นพยานหลักฐาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยได้กู้เงินโจทก์จำนวน 150,000 บาท และได้รับเงินไปแล้วในวันทำสัญญา โดยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนวันที่1 กุมภาพันธ์ 2532 นับแต่จำเลยกู้เงินโจทก์ไปแล้ว ไม่เคยชำระดอกเบี้ยเลย เมื่อครบกำหนดที่จะต้องชำระต้นเงินก็ไม่นำเงินดังกล่าวมาชำระแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้หลายครั้งจำเลยเพิกเฉย ถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้นรวมเป็นเงิน176,250 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 176,250 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 150,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ ลายมือชื่อในสัญญากู้เป็นลายมือชื่อปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 176,250 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 150,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีประเด็นในชั้นฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าสัญญากู้เงินที่โจทก์ส่งศาลปิดอากรแสตมป์แล้ว แต่ไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่เพียงใด ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นแก่โจทก์ โจทก์จึงนำเอกสารดังกล่าวมาเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีนี้พิเคราะห์แล้ว ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว..”และมาตรา 103 อธิบายว่า “ปิดแสตมป์บริบูรณ์” หมายความว่า (1) ในกรณีแสตมป์ปิดทับ คือการได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือในทันทีที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย และได้ขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว คดีนี้ปรากฏว่าสัญญากู้อันเป็นตราสารที่โจทก์อ้างเป็นพยานตามเอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์แล้วแต่ไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ จึงถือว่าสัญญากู้ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ปัญหานี้จำเลยยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้จริง ศาลไม่จำต้องอาศัยสัญญากู้เป็นพยานหลักฐานต่อไปนั้นก็ปรากฏว่า จำเลยให้การปฏิเสธลายมือชื่อในสัญญากู้เงินว่าไม่ใช่ของจำเลย เท่ากับปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารและกล่าวอ้างว่าหนี้นั้นไม่สมบูรณ์ ศาลต้องใช้สัญญากู้มาเป็นพยานหลักฐานในคดี เมื่อสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อ้างไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ อันเป็นผลให้คดีโจทก์ไม่มีหลักฐานที่จะรับฟังว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ดังฟ้องส่วนที่จำเลยเบิกความว่าลายมือชื่อในสัญญากู้เป็นของจำเลยนั้น เป็นเรื่องในชั้นพิจารณา ข้อเท็จจริงในประเด็นที่จำเลยต่อสู้ไว้ว่าไม่ได้ทำสัญญากู้นั้น ฟังได้เพียงใดไม่ใช่กรณีที่ไม่ต้องใช้เอกสารสัญญากู้หมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share