แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 มีราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท และต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ผู้ร้องที่ 1 และที่ 3ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าคดีผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจึงมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่า มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้หรือไม่เท่านั้น
การที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องรับรองและมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสามจึงเป็นการสั่งคดีในส่วนของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 โดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่งแล้ว และแม้ต่อมาในชั้นฎีกาผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องร่วมกับผู้ร้องที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าคดีมีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ และผู้พิพากษาที่นั่ง-พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับรองว่าคดีมีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้และมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ร้องทั้งสามก็ตาม ก็เป็นการสั่งคดีในส่วนของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 โดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเช่นกัน ผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ และศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ ตามป.วิ.พ.มาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247ศาลฎีกาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 และเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ว่า “คดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องรับรอง” และให้ยกคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 เสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณา-คดีในศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 ว่าจะรับรองหรือไม่แล้วดำเนินการต่อไป กับให้ยกฎีกาของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3