คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2924/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ถูกต้องตามพยานหลักฐานในสำนวน แปลพยานหลักฐานไม่ถูกต้อง ฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนและหยิบยกพยาน เหตุผลต่าง ๆ ขึ้นอ้างให้ศาลฎีกาฟังว่าโจทก์ไม่ได้ป่วยแตกต่างไปจากที่ศาลแรงงานกลางฟังมาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ในคดีที่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น แม้ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นเรื่องค่าเสียหายไว้ โดยไม่ได้กำหนดประเด็นว่ามีเหตุควรให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือไม่ ถ้าศาลแรงงานกลางเห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางก็พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 49 ซึ่งกำหนดให้ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะคุ้มครองป้องกันมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโดยบัญญัติให้ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้าง ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่องจากอายุงานเดิมก่อนถูกเลิกจ้าง โดยอาศัยมาตราดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในหน้าที่และค่าจ้างเดิม ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,856 บาท กับค่าเสียหายดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของค่าเสียหายที่โจทก์พึงได้รับ
จำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง จำเลยไม่ประสงค์รับโจทก์กลับเข้าทำงาน เพราะยากแก่การปกครอง โจทก์ก้าวร้าวต่อผู้บังคับบัญชา และได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นคดีอาญา หยุดงานบ่อย ไม่มีสมรรถภาพในการทำงานเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่พนักงานอื่น ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมาสูงเกินไป
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ค่าเสียหายเพียงใด
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ปี 2532 ตำแหน่งพนักงานประกอบ ได้รับค่าจ้างวันละ 102 บาท และโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานผลิตผลไฟฉายไทยแห่งประเทศไทย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2534 โจทก์ป่วยจริงและได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุและความผิด เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างนับอายุงานต่อเนื่องเดิม คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า นางสาวกาญจนาเนื่องนุ่ม เป็นผู้ที่นางอรอนงค์ วอง ไปสอบถามที่บ้านโจทก์เป็นการวินิจฉัยไม่ถูกต้องตามพยานหลักฐานในสำนวน แปลพยานหลักฐานไม่ถูกต้องและฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ไม่ได้ป่วย จึงเป็นการลาป่วยเท็จฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้เป็นการหยิบยกพยานและเหตุต่าง ๆ ขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่าโจทก์ไม่ได้ป่วย จึงเป็นการลาป่วยเท็จ ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ซึ่งเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าโจทก์ป่วยจริงและได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยแล้ว อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในหน้าที่และค่าจ้างเดิม จำเลยให้การว่าไม่ประสงค์จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานในหน้าที่และค่าจ้างเดิม เพราะยากแก่การปกครอง ฯลฯ ดังนั้น ศาลแรงงานกลางต้องกำหนดประเด็นว่า มีเหตุควรรับโจทก์กลับเข้าทำงานในหน้าที่และค่าจ้างเดิมหรือไม่ เมื่อไม่ได้กำหนดประเด็นดังกล่าวไว้ ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างนับอายุงานต่อเนื่องเดิมโดยอ้างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ไม่ได้ เพราะศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นเรื่องค่าเสียหายว่าค่าเสียหายมีเพียงใด แต่ไม่ได้กำหนดประเด็นเรื่องรับกลับเข้าทำงาน การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จึงเป็นการพิพากษานอกประเด็น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นเรื่องค่าเสียหายไว้โดยไม่ได้กำหนดประเด็นว่ามีเหตุควรให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือไม่ก็ตาม ถ้าศาลแรงงานกลางเห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางก็พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49…
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในหน้าที่และค่าจ้างเดิม ไม่ได้ขอให้นับอายุงานต่อเนื่อง ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างนับอายุงานต่อเนื่องเดิมจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และศาลแรงงานกลางไม่ได้แสดงเหตุผลแห่งการวินิจฉัยเช่นนั้น ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49, 51 และ 53 พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 กำหนดให้ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะคุ้มครองป้องกันมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โดยบัญญัติให้ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะเลิกจ้าง ซึ่งย่อมหมายความว่าเป็นการสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปในฐานะเดิมก่อนถูกเลิกจ้างดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่องจากอายุงานเดิมก่อนถูกเลิกจ้างโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 49แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องตามที่จำเลยกล่าวอ้างแต่อย่างใด…”
พิพากษายืน.

Share