คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2924/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานได้กำหนดประเด็นเรื่องค่าเสียหายไว้โดยไม่ได้กำหนดประเด็นว่ามีเหตุควรให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามฟ้องหรือไม่ แต่เมื่อศาลแรงงานเห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมศาลแรงงานก็พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปได้ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49พระราชบัญญัติ ญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 กำหนดให้ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะคุ้มครองป้องกันมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โดยบัญญัติให้ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะเลิกจ้าง ซึ่งย่อมหมายความว่าเป็นการสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปในฐานะเดิมก่อนถูกเลิกจ้างการที่ศาลแรงงานพิพากษาให้นับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่องจากอายุงานเดิมก่อนถูกเลิกจ้าง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 49 จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ปี 2532 เมื่อวันที่18 ธันวาคม 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ลาผิดระเบียบแจ้งเท็จอันว่าด้วยการลาของจำเลย ความจริงโจทก์ไม่ได้กระทำผิดดังกล่าว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่เป็นลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องเป็นสมาชิกและกรรมการของสหภาพแรงงานผลิตผลไฟฉายไทยแห่งประเทศไทยขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลบังคับใช้อยู่จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในหน้าที่และค่าจ้างเดิม ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรงจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ประสงค์รับโจทก์กลับเข้าทำงานเพราะยากแก่การปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ป่วยจริงและได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุและความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างนับอายุงานต่อเนื่องเดิม คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในหน้าที่และค่าจ้างเดิมจำเลยให้การว่าไม่ประสงค์จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานในหน้าที่และค่าจ้างเดิม เพราะยากแก่การปกครอง ฯลฯ ดังนั้น ศาลแรงงานกลางต้องกำหนดประเด็นว่า มีเหตุควรรับโจทก์กลับเข้าทำงานในหน้าที่และค่าจ้างเดิมหรือไม่ เมื่อไม่ได้กำหนดประเด็นดังกล่าวไว้ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างนับอายุงานต่อเนื่องเดิมโดยอ้างพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ไม่ได้ เพราะศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นเรื่องค่าเสียหายว่า ค่าเสียหายมีเพียงใดแต่ไม่ได้กำหนดประเด็นเรื่องรับกลับเข้าทำงาน การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานจึงเป็นการพิพากษานอกประเด็น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นเรื่องค่าเสียหายไว้โดยไม่ได้กำหนดประเด็นว่ามีเหตุควรให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือไม่ก็ตามถ้าศาลแรงงานกลางเห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมศาลแรงงานกลางก็พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปได้ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในหน้าที่และค่าจ้างเดิม ไม่ได้ขอให้นับอายุงานต่อเนื่องดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างนับอายุงานต่อเนื่องเดิม จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และศาลแรงงานกลางไม่ได้แสดงเหตุผลแห่งการวินิจฉัยเช่นนั้น ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49, 51และ 53 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 กำหนดให้ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะคุ้มครองป้องกันมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโดยบัญญัติให้ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะเลิกจ้าง ซึ่งย่อมหมายความว่าเป็นการสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปในฐานะเดิมก่อนถูกเลิกจ้าง ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่องจากอายุงานเดิมก่อนถูกเลิกจ้างโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องตามที่จำเลยกล่าวอ้างแต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share