คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2924/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือที่ผู้ตายทำขึ้นระบุว่าเป็นพินัยกรรม แต่ข้อความกลับมีเพียงว่า ผู้ตายตกลงยกที่ดินให้เท่านั้น ไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 บัญญัติบังคับไว้ จึงไม่ใช่พินัยกรรม

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องให้โจทก์ไปยื่นคำร้องขอถอนคำคัดค้านการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อพนักงานที่ดิน หากโจทก์ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่และเดิมเป็นของนางแมว ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อเดือนมิถุนายน 2522 โจทก์อ้างว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรมของนางแมวฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2522 ตามเอกสารหมาย จ.3 แต่จำเลยอ้างว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมของนางแมว ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2520(เอกสารหมาย ล.6)

ที่โจทก์ฎีกาว่า เอกสารหมาย จ.3 เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.3 จะมีข้อความเขียนระบุบรรทัดแรกว่า “พินัยกรรม” แต่ข้อความในหนังสือดังกล่าวกลับมีข้อความแต่เพียงว่า”ข้าพเจ้านางแมว พรมมา อายุ 74 ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเลขที่ 19 หมู่ 2ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ได้ตกลงยินดียกที่ดินหนองตาเบี้ยวตาม ส.ค.1 เลขที่ 374 เป็นเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน….” ตามข้อความในหนังสือดังกล่าวจึงมีความหมายแต่เพียงว่านางแมวตกลงยินดียกที่ดินให้เท่านั้น ไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1646 บัญญัติบังคับไว้ เอกสารหมาย จ.3 จึงมิใช่พินัยกรรม”

พิพากษายืน

Share