แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นองค์การของรัฐบาลจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ฯ แม้ตามมาตรา 8 จะกำหนดให้กระทรวงคมนาคมโอนกิจการ สิทธิ หน้าที่ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และหนี้สิน ซึ่งเกิดจากการดำเนินกิจการขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงคมนาคมตลอดจนพนักงานขององค์การดังกล่าวก่อนวันใช้ พ.ร.ฎ. บังคับให้แก่จำเลยที่ 1 และตามมาตรา 9 กำหนดทุนของ ร.ส.พ. เป็นจำนวนเงินห้าสิบล้านบาท โดยรัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมสิบล้านบาท และจ่ายเพิ่มเติมเป็นคราว ๆ ตามจำนวนที่รัฐบาลเห็นสมควร ซึ่งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีทุนห้าสิบล้านบาทโดยทุนทั้งหมดรัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้ และทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 บางส่วนได้รับโอนจากกระทรวงคมนาคมก็ตาม แต่ตามมาตรา 11 กำหนดให้รายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการดำเนินกิจการให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 เพื่อสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ส่วนตามมาตรา 12 กำหนดให้เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้แล้ว รายได้ของจำเลยที่ 1 เหลือเท่าใดจึงให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ แสดงให้เห็นว่ารายได้ของจำเลยที่ 1 ก่อนหักค่าใช้จ่ายยังไม่เป็นของแผ่นดินอันจะยึดไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ศาลแรงงานกลางออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดอายัดทรัพย์จำเลยที่ 1 ในส่วนดังกล่าวได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาและคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินบำเหน็จและเงินค่าตอบแทนความชอบในการทำงานแก่โจทก์รวม 58 สำนวน ระหว่างการบังคับคดีศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาในชั้นบังคับคดีเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทท์ทั้ง 58 สำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 58 ตามลำดับ และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้ง 58 สำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 22 ถึงที่ 31 ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว คดีของโจทก์ดังกล่าวจึงยุติไปแล้ว ส่วนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 21 และโจทก์ที่ 32 ถึงที่ 58 รวม 48 สำนวนยื่นคำร้องขอออกหมายบังคับคดี ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 21 และโจทก์ที่ 32 ถึงที่ 58 ไม่คัดค้าน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 21 และโจทก์ที่ 32 ถึงที่ 58 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิจะขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นองค์การของรัฐ และทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จะเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินก็ตาม ในชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการยึด อายัด ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้เพียงใดเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง คำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบแล้วให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้ออกหมายบังคับคดีและตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นองค์การของรัฐบาลจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ.2496 แม้ตามมาตรา 8 จะกำหนดให้กระทรวงคมนาคมโอนกิจการ สิทธิ หน้าที่ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และหนี้สิน ซึ่งเกิดจากการดำเนินกิจการขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงคมนาคม ตลอดจนพนักงานขององค์การดังกล่าว ก่อนวันใช้พระราชกฤษฎีกานี้บังคับ ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และตามมาตรา 9 บัญญัติว่า “ให้กำหนดทุนของ ร.ส.พ. เป็นจำนวนเงินห้าสิบล้านบาท โดยรัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมสิบล้านบาท และจ่ายเพิ่มเติมเป็นคราว ๆ ตามจำนวนที่รัฐบาลเห็นสมควร” ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีทุนห้าสิบล้านบาทโดยทุนทั้งหมดรัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้ และทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 บางส่วนได้รับโอนจากกระทรวงคมนาคม แต่ตามมาตรา 11 ก็กำหนดให้รายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการดำเนินกิจการให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 เพื่อสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ส่วนตามมาตรา 12 กำหนดให้เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้แล้ว รายได้ของจำเลยที่ 1 เหลือเท่าใดจึงให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ แสดงให้เห็นว่ารายได้ของจำเลยที่ 1 ก่อนหักค่าใช้จ่ายยังไม่เป็นของแผ่นดินอันจะยึดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 กรณีเช่นนี้ ศาลแรงงานกลางย่อมออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดอายัดทรัพย์จำเลยที่ 1 ในส่วนดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน