แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1382 บัญญัติว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น…ฯลฯ…” คำว่าผู้อื่นตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นใครผู้ใดก็ได้ แต่ต้องมิใช่ผู้ครอบครองปรปักษ์เอง ดังนั้น การครอบครองปรปักษ์จะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างในคำให้การว่าที่พิพาทเป็นของตนเอง จึงไม่อาจมีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์
ปัญหาว่าอำนาจฟ้องของโจทก์ระงับไปด้วยการถอนฟ้องในคดีก่อนหรือไม่เป็นปัญหาสำคัญทั้งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงย่อมอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาได้ไม่ต้องห้ามแม้ว่าจำเลยทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นอ้างในคำให้การ โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นซึ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีนี้ โดยมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้วก็ตาม แต่ในการถอนฟ้องนั้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยอ้างเพียงว่าได้ขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นแล้ว และแถลงว่าอยู่ระหว่างจดทะเบียนโอนสิทธิโดยโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้หากโอนไปแล้วโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 อีก โจทก์มิได้ร้องหรือแถลงไว้ในคดีดังกล่าวว่าจะไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้อีก อันจะถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่โจทก์ได้กระทำต่อศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งพึงถือว่าโจทก์ได้ยอมสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เกี่ยวกับการยื่นฟ้องใหม่ อันเป็นการผูกมัดตัวโจทก์ และแม้โจทก์เองจะเบิกความในคดีนี้โดยตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า “ในการถอนฟ้องคดีดังกล่าว โจทก์อ้างว่าได้ขายที่ดินไปแล้ว จะไม่นำคดีมาฟ้องอีก ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง” คำเบิกความของโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่ใช่กระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าว ส่วนที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำสั่งในการถอนฟ้องของโจทก์ว่า “ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องเพื่อทำฟ้องที่สมบูรณ์มายื่นต่อศาลใหม่อีก ทั้งโจทก์ขอถอนฟ้องโดยอ้างเหตุว่าได้ขายที่ดินให้ผู้อื่น จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องแล้วหวนกลับมาฟ้องจำเลยใหม่อีก” ก็เป็นเรื่องดุลพินิจของศาลชั้นต้นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้ซื้อทีดินที่โจทก์อ้างในดคีก่อน ชำระราคาแก่โจทก์ไม่ครบถ้วน จึงยังมิได้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์แก่กันให้บริบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12526 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 42 ไร่ 3 งาน 23 ตารางวา หลังจากซื้อมาแล้วโจทก์ได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขต ปรากฎว่าที่ดินโจทก์ด้านทิศตะวันตกมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2941 เลขที่ดิน 57 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของจำเลยที่ 1 ทับอยู่เป็นเนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 76 ตารางวา จำเลยที่ 2 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวและไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปทำการรังวัดสอบเขตที่ดิน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2491 (ที่ถูก 2941) ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 76 ตารางวา
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2941 โดยทางราชการออกเอกสารสิทธิให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ทับที่ดินมีโฉนดของโจทก์ แม้จะฟังว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่ในโฉนดที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้ครอบครองมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 มารดายื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2941 เลขที่ดิน 57 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินมีโฉนดเลขที่ 12526 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นเนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา ตามแนวเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาท เอกสารหมาย ล.1 แจ้งผลของคำพิพากษาอันถึงที่สุดต่อเจ้าพนักงานที่ดินแห่งท้องที่ ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 62 ให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายประยงค์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างไม่ไต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เจ้าพนักงานทีดิ่นจังวหัดชบยุรีได้ดำเนินการรังวัดสอบสวนและออกโฉนดที่ดินเลขที่ 12526 ตำบลบึง อำเภอสรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 42 ไร่ 3 งาน 23 ตารางวา ให้แก่นายโน้ม เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2514 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน และสารบบการออกโฉนดที่ดิน เอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 หลังจากนั้นมีการจดทะเบียนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินโฉนดดังกล่าวเปลี่ยนมือถือกรรมสิทธิ์กันระหว่างผู้มีชื่อต่อเนื่องกันมา จนในที่สุดปี 2525 นายสมเกียรติ ได้จดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทีดินมือเปล่ามีเพียงเอกสาร ภ.บ.ท.6 เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ จาก
นายป้อม แล้วเข้าครอบครองทำประโยชน์ทั้งเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา จนกระทั่งปี 2519 จำเลยที่ 1 จึงเพิ่มไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ล.5 แล้วปลูกบ้านอีก 1 หลัง ในแปลงที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรอยู่อาศัยด้วย แต่ที่ดินทั้งแปลงที่จำเลยทั้งสองครอบครองตามเอกสารหมาย ล.5 ดังกล่าว รุกล้ำทับกับที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ของโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในทีดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2941 โดยทางราชการออกเอกสารสิทธิให้ถูกต้องตามกฎหมาย และแม้จะฟังว่าทับที่ดินมีโฉนดของโจทก์แต่จำเลยที่ 1 ก็ครอบครองโดยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว ดังนี้ คำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงต้องถือว่ามีข้อเถียงขัดแย้งกันเอง เนื่องเพราะ ตามมาตรา 1382 นั้น บัญญัติว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น…ฯลฯ…” ซึ่งคำว่าผู้อื่นตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นใครผู้ใดก็ได้ แต่ต้องมิใช่ผู้ครองครองปรปักษ์เอง การครอบครองปรปักษ์จะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อฝ่ายจำเลยทั้งสองอ้างในคำให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน คือตามเอกสารหมาย ล.5 ที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองนำสืบแสดงต่อศาลแต่ต้น จึงไม่อาจมีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ดังที่จำเลยทั้งสองเถียงในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ทับโฉนดที่ดินของโจทก์ ต้องเพิกถอน โดยไม่วินิจฉัยเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตามที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ จึงถูกต้องชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกามาด้วยว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้และถอนฟ้อง ทำให้สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัย ขอให้ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้น เห็นว่า ปัญหาว่าอำนาจฟ้องของโจทก์ระงับไปด้วยการถอนฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาสำคัญทั้งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงย่อมอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาได้ ไม่ต้องห้ามแม้ว่าจำเลยทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นอ้างในคำให้การ อย่างไรก็ดีแม้โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 441/2534 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีนี้โดยมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้แล้วก็ตาม แต่ในการถอนฟ้องนั้น ปรากฏตามเอกสารในสำนวนดังกล่าว สารบัญอันดับที่ 28, 29 และ 31 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยเพียงอ้างว่าได้ขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว และแถลงว่าอยู่ระหว่างจดทะเบียนโอนสิทธิ โดยโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้หากโอนไปแล้วโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 อีก กล่าวโดยเฉพาะโจทก์มิได้ร้องหรือแถลงไว้ในคดีดังกล่าวว่าจะไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้อีก อันจะถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่โจทก์ในคดีนั้นได้กระทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งพึงถือว่าโจทก์ได้ยอมสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 เกี่ยวกับการจะยื่นฟ้องใหม่ อันเป็นการผูกมัดตัวโจทก์ และแม้โจทก์เองจะมาเบิกความในคดีนี้โดยตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า “ในการถอนฟ้องคดีดังกล่าว โจทก์อ้างว่าได้ขายที่ดินไปแล้ว จะไม่นำคดีมาฟ้องอีก ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องไป ”
คำเบิกความของโจทก์ในคดีนี้ก็หาใช่กระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าว ส่วนที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำสั่งในการถอนฟ้องของโจทก์ว่า “ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องเพื่อทำฟ้องที่สมบูรณ์มายื่นต่อศาลใหม่อีก ทั้งโจทก์ขอถอนฟ้องโดยอ้างเหตุว่าได้ขายที่ดินให้ผู้อื่น จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องโดยหวนกลับมาฟ้องจำเลยใหม่อีก” ก็เป็นเรื่องดุลพินิจของศาลชั้นต้นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่า นายถาวร ผู้ซื้อที่ดินของโจทก์ชำระราคาแก่โจทก์ไม่ครบถ้วน จึงยังมิได้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์แก่กันให้บริบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดี ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.