คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยร่วมมีฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ จำเลยร่วมจึงเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดซึ่งจะต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนและผลแห่งคำพิพากษาหรือข้อเท็จจริงในคดีผูกพันบังคับแก่จำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีโดยตรงในคดีที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้องแย้งให้รับผิดตามสัญญา จำเลยจึงมีอำนาจยื่นคำร้องและชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีให้ร่วมรับผิดกับโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งได้
บทบัญญัติ ป.พ.พ.มาตรา 563 ที่ว่า คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่า ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่านั้นเป็นการบังคับเฉพาะกรณีที่ผู้เช่ายอมส่งมอบที่ดินที่เช่าคืน แต่ตามฟ้องแย้งจำเลยที่ให้โจทก์และจำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ย่อมไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน ๙๙,๙๘๕,๘๕๐ บาท
พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์และบริวารออกจากที่ดินที่เช่าและส่งมอบที่ดินที่เช่าจำนวน ๑,๐๐๐ ไร่ ในสภาพเรียบร้อยให้แก่จำเลย ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน๒๙๙,๙๓๙ บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจากการที่โจทก์ยังคงอยู่ในที่ดินที่เช่าในอัตราปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายจากการที่โจทก์กรีดเก็บน้ำยางพาราในอัตราปีละ ๒๑๖,๐๐๐ บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์จะส่งมอบที่ดินที่เช่าคืนแก่จำเลย
ระหว่างพิจารณา จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายชาติชายหรือสมชาย หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์เข้ามาเป็นคู่ความ โดยจำเลยขอถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งและคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลยเปรียบเสมือนหนึ่งเป็นคำฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เรียกนายชาติชายเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๓) (ข)
โจทก์ยื่นคำให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยร่วมให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ จำเลย จำเลยร่วมเป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์และจำเลยร่วมพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินที่เช่าและส่งมอบที่ดินที่เช่าทั้งหมดคืนให้แก่จำเลยในสภาพเรียบร้อย ให้โจทก์และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายให้จำเลยจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท และให้โจทก์และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจากการที่โจทก์และจำเลยร่วมยังอยู่ในที่ดินที่เช่าปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายจากการที่โจทก์และจำเลยร่วมกรีดและเก็บน้ำยางพาราในอัตราปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้ง (วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๒) เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ จำเลยร่วมและบริวารจะออกไปจากที่ดินที่เช่า และให้โจทก์จำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม๑๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ยกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยร่วมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำกิจการแทนโจทก์ โจทก์เช่าที่ดินหมู่ที่ 3 ตำบลวังมะปรางเหนือ อำเภอวังวิเสษ จังหวัดตรัง จากจำเลยเพื่อทำสวนยาง เนื้อที่ 1,077ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา มีกำหนดระยะเวลาเช่า 30 ปี นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2566
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมในประการแรกมีว่า จำเลยมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยโดยให้ร่วมรับผิดกับโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยร่วมมีฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ จำเลยร่วมจึงเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดซึ่งจะต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนและผลแห่งคำพิพากษาหรือข้อเท็จจริงในคดีผูกพันบังคับแก่จำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีโดยตรงในคดีที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้องแย้งให้รับผิดฐานผิดสัญญา จำเลยจึงมีอำนาจยื่นคำร้องและชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีให้ร่วมรับผิดกับโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งได้ ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มิได้
เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดในคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วสรุปความว่า โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้น คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงให้ชัดแจ้งว่า มีอยู่อย่างไร คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบอย่างไร และโจทก์สมควรจะชนะคดีเพราะเหตุใด คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่งศาลอุทธรณ์ภาค ๙ วินิจฉัยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ดังนั้น ปัญหาเรื่องโจทก์ผิดสัญญาหรือไม่ และจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ โจทก์ฎีกาในปัญหานี้ซึ่งเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ขึ้นมาอีก จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยร่วมต่อไปมีว่า โจทก์และจำเลยร่วม
จะต้องรับผิดตามฟ้องแย้งหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ปลูกต้นยางพาราไม่เต็มเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ไร่ และตัดฟันต้นไม้กระยาเลยซึ่งเป็นไม้ยืนต้นในที่ดินที่เช่าอันเป็นการผิดสัญญาเช่าข้อ ๑ และข้อ ๕ ตามเอกสารสัญญาเช่า โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าและจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์มีหน้าที่จะต้องคืนที่ดินที่เช่าให้จำเลย เมื่อโจทก์ยังคงอยู่ในที่ดินที่เช่า จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องแย้งให้ขับไล่โจทก์และจำเลยร่วม และเรียกให้ชำระค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์ได้ สำหรับค่าขาดประโยชน์จากการเอาที่ดินที่เช่าออกให้ผู้อื่นเช่าซึ่งจำเลยคิดค่าเช่าปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยคิดเป็นเงินค่าเช่าเท่ากับที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยอยู่แล้ว จึงเป็นจำนวนที่พอสมควร ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์และจำเลยร่วมกรีดยางพาราในที่ดินที่เช่า ทำให้จำเลยเสียประโยชน์นับแต่วันเลิกสัญญากันนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ได้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์และจำเลยร่วมชดใช้ปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันเลิกสัญญาจนกว่าโจทก์และจำเลยร่วมจะส่งมอบที่ดินที่เช่าทั้งหมดให้จำเลยนั้นเป็นค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์มีว่า ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์ที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกมานั้นขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๓ บัญญัติว่า คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า ซึ่งเป็นการบังคับเฉพาะกรณีที่ผู้เช่ายอมส่งมอบที่ดินที่เช่าคืน แต่ตามฟ้องแย้งจำเลยที่ให้โจทก์และจำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๙๓/๓๐ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องยังไม่พ้นกำหนด ๑๐ ปี ย่อมไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของโจทก์และจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเห็นสมควรให้เป็นพับ

Share