คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำการผ่าตัดหน้าอกโจทก์ที่มีขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลงที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 หลังผ่าตัดแล้วจำเลยที่ 2 นัดให้โจทก์ไปทำการผ่าตัดแก้ไขที่คลินิกจำเลยที่ 2 อีก 3 ครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น โจทก์จึง ให้แพทย์อื่นทำการรักษาต่อ แม้ตัวโจทก์และนายแพทย์ ด. ผู้ทำการรักษาโจทก์ต่อจากจำเลยที่ 2 จะไม่สามารถ นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อในการผ่าตัด และรักษาพยาบาลโจทก์อย่างไร แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมด้านเลเซอร์ ผ่าตัด จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและ พฤติการณ์เป็นพิเศษ การที่ นายแพทย์ ด. ต้องทำการผ่าตัดแก้ไขอีก 3 ครั้ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ผ่าตัดมา มีข้อบกพร่องจึงต้องแก้ไขและแสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังในการผ่าตัด และไม่แจ้งให้ผู้ป่วยทราบ ถึงขั้นตอนการรักษา ระยะเวลา และกรรมวิธีในการดำเนินการรักษา จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นับว่าเป็นความ ประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ พฤติการณ์ที่โจทก์ติดต่อรักษากับจำเลยที่ 2 ที่คลินิกและตกลงให้โจทก์เข้าผ่าตัดในโรงพยาบาลจำเลยที่ 1โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 จำนวน 70,000 บาทให้จำเลยที่ 1 จำนวน 30,000 บาท ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นนายจ้างหรือตัวการที่ต้องร่วมรับผิด ในส่วนของค่าเสียหายนอกจากส่วนที่มีใบเสร็จแม้โจทก์จะมีอาการเครียด อยู่ก่อนได้รับการผ่าตัดจาก จำเลยที่ 2 แต่เมื่อหลังผ่าตัดอาการมากขึ้นกว่าเดิมความเครียด ของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงมาจากการผ่าตัดจำเลยที่ 2 ต้องรับผิด และแม้ไม่มีใบเสร็จมาแสดงว่าได้เสียเงินไปเป็นจำนวนเท่าใดแน่นอน แต่น่าเชื่อว่าโจทก์ ต้องรักษาจริง ศาลเห็นสมควรกำหนดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ สำหรับค่าเสียหายอื่นนั้นเมื่อปรากฏว่าหลังจากแพทย์โรงพยาบาลอื่นได้รักษาโจทก์อยู่ในสภาพปกติแล้ว โจทก์จึง ไม่อาจเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย อื่นอันมิใช่ตัวเงิน เหตุละเมิดเกิดวันที่ 12 เมษายน 2537 ต้องฟ้อง ภายใน 1 ปี ครบกำหนดตรงกับวันหยุดสงกรานต์วันที่ 12 ถึง 14 เมษายน วันที่ 15 และ 16 เมษายน 2538 เป็นวันเสาร์อาทิตย์ ราชการหยุดทำการ โจทก์ยื่นฟ้อง วันเปิดทำการวันที่ 17 เมษายน 2537 ได้ คดีไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้เข้าทำการศัลยกรรมเต้านมที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างหรือตัวแทนเป็นผู้ทำศัลยกรรมลดขนาดเต้านมของโจทก์ให้เล็กลง แต่จำเลยที่ 2 ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้สภาพเต้านมทั้งสองข้างกลายเป็นก้อนเนื้อที่ติดกันเพียงก้อนเดียว และหมดความรู้สึกในการตอบสนองการสัมผัสและไม่มีหัวนม หลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง เป็นเหตุให้มีน้ำเหลืองไหลออกมาเป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลในการรักษาเต้านมเพิ่มขึ้นจำนวน 73,135 บาท และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินเป็นจำนวนเงิน 1,200,000 บาท ทั้งโจทก์จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลในอนาคตอีกเป็นจำนวน 700,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวนเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 มิใช่นายจ้างของของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระได้เข้ามาเช่าใช้บริการห้องผ่าตัดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทำศัลยกรรมตกแต่งเต้านมให้โจทก์ตามหลักวิชาการแพทย์อย่างถูกต้องแต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามวิธีการรักษาพยาบาลหลังผ่าตัดโดยเคร่งครัด อันเป็นเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนต้องทำการผ่าตัดซ้ำอีก จำเลยที่ 2 เคยสั่งห้ามโจทก์สูบบุหรี่แต่โจทก์ไม่ยอมเชื่อฟัง ซึ่งการสูบบุหรี่อาจทำให้เส้นเลือดตีบเป็นเหตุให้เลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ไม่ได้ ทำให้เนื้อตายและโจทก์ไม่ได้มาล้างแผลโดยสม่ำเสมอจนแผลเกิดติดเชื้อและอักเสบ จำเลยที่ 2 ได้รักษาพยาบาลโจทก์จนหายปกติดีแล้วส่วนค่ารักษาพยาบาลในตอนหลังโจทก์ไปรักษาพยาบาลเองจึงมาเรียกจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ได้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์และเป็นผู้ชำนาญพิเศษในแขนง สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่งจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 กระทำการผ่าตัดหน้าอกโจทก์ที่มีขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลงมีสภาพปกติที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 หลังผ่าตัดแล้วจำเลยที่ 2นัดให้โจทก์ไปผ่าตัดแก้ไขที่คลินิก จำเลยที่ 2 อีก 3 ครั้งแต่อาการไม่ดีขึ้น โจทก์จึงให้แพทย์อื่นทำการรักษาต่อมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 2 ทำการผ่าตัดหน้าอกในวันที่ 12 เมษายน 2537รักษาตัวที่โรงพยาบาล 1 วัน วันที่ 13 เมษายน 2537จำเลยที่ 2 อนุญาตให้โจทก์กลับบ้าน วันที่ 15 เมษายน 2537จำเลยที่ 2 เปิดแผลพบมีน้ำเหลืองไหลบริเวณปากแผลทรวงอกไม่มีร่องอก มีก้อนเนื้ออยู่บริเวณรักแร้ด้านขวาเต้านมด้านซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าด้านขวาและส่วนที่เป็นหัวนมจะมีบาดแผลที่คล้ายเกิดจากการถูกไฟไหม้ พยานสอบถามจำเลยที่ 2บอกว่าเกิดจากการผิดพลาดในการผ่าตัดแล้วแจ้งว่าจะดำเนินการแก้ไขให้ จำเลยที่ 2 นัดให้พยานไปทำแผลดูดน้ำเหลืองออกจากบริเวณทรวงอก และได้มีการผ่าตัดแก้ไขทรวงอกอีก 3 ครั้งหลังจากนั้นพยานเห็นว่าทรวงอกไม่มีสภาพดีขึ้น ประกอบกับระยะเวลาล่วงเลยมานานจึงเปลี่ยนแพทย์ใหม่ และนายดิลกเต็มเสถียร ซึ่งเป็นแพทย์ที่ทำการรักษาต่อจากจำเลยที่ 2เบิกความสนับสนุนว่า โจทก์แจ้งกับพยานว่าได้ทำศัลยกรรมทรวงอกโดยการผ่าตัดมาแต่ยังไม่เป็นที่พอใจ ขอให้พยานทำการแก้ไข ขณะที่โจทก์มาพบพยานบริเวณทรวงอกของโจทก์มีรอยแผลจากการผ่าตัดมีขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กแต่ไม่มีอาการเจ็บปวด แต่ปรากฏว่าบริเวณดังกล่าวยังทำศัลยกรรมไม่แล้วเสร็จพยานทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขทรวงอก 3 ครั้ง ปัจจุบันมีสภาพทรวงอกดีขึ้นกว่าเดิม เห็นว่า พยานทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันโดยเฉพาะแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดคนหลังเป็นพยานคนกลางสอดคล้องกับโจทก์ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองน่าเชื่อมีน้ำหนักรับฟังได้ แม้พยานโจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อในการผ่าตัดและรักษาพยาบาลโจทก์อย่างไร แต่การที่นายแพทย์ดิลกทำการผ่าตัดแก้ไขอีก 3 ครั้ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ผ่าตัดมามีข้อบกพร่องจึงต้องแก้ไข ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแพทย์เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมด้านเลเซอร์ ผ่าตัดแสดงว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เป็นพิเศษ แต่การที่จำเลยที่ 2 ผ่าตัดโจทก์เป็นเหตุให้ต้องผ่าตัดโจทก์เพื่อแก้ไขถึง 3 ครั้ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังในการผ่าตัดและไม่แจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนการรักษาระยะเวลา และกรรมวิธีในการดำเนินการรักษาจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายนับว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนประเด็นพิพาทข้ออื่นที่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปตามพยานหลักฐานในสำนวนโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อนมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายเพียรเทพ พงษ์สะบุตร บุตรชายของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า พยานกับโจทก์ได้ไปพบจำเลยที่ 2ที่คลินิก ซึ่งเปิดอยู่บริเวณสุโขทัยแมนชั่น จำเลยที่ 2แนะนำว่าโจทก์ควรทำศัลยกรรมทรวงอกโดยใช้แสงเลเซอร์โจทก์ตกลงรับรักษากับจำเลยที่ 2 และตกลงกันว่าให้โจทก์เข้าทำการรักษาผ่าตัดที่โรงพยาบาลรามคำแหงจำเลยที่ 1จำเลยทั้งสองเรียกค่ารักษาพยาบาลโจทก์จำนวน 100,000 บาทโดยพยานสั่งจ่ายเช็คให้จำเลยที่ 2 จำนวน 70,000 บาทส่วนที่เหลืออีก 30,000 บาท จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1ส่วนจำเลยนำสืบว่า การผ่าตัดรายใหญ่ที่นำไปรักษาตามโรงพยาบาลนั้นโรงพยาบาลจะคิดค่าห้อง ค่ารักษา และค่ายา ส่วนค่าผ่าตัดนั้นแพทย์ผู้ผ่าตัดจะคิดจากคนไข้ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ผ่าตัดแต่เพียงผู้เดียวและมีหมอดมยาและพยาบาลของโรงพยาบาลเป็นผู้ช่วย เห็นว่า โจทก์นำสืบแต่เพียงว่าโจทก์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 ที่คลินิก ของจำเลยที่ 2 เมื่อตกลงจะผ่าตัดจำเลยที่ 2จึงตกลงให้โจทก์เข้าผ่าตัดในโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1พฤติการณ์ตามทางนำสืบของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 หรือเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 2เป็นตัวแทนทำการผ่าตัดให้โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงหาจำเลยรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไม่
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่โรงพยาบาลรามคำแหงเป็นเงิน 29,826 บาทตามเอกสารหมาย จ.5 ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลปิยะเวทเป็นเงิน 73,135.70 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 และค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสมิติเวช 33,624 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2และ 52,927 บาท ตาม จ.13 โจทก์มีหลักฐานมาแสดงมีน้ำหนักรับฟังได้ เชื่อว่าโจทก์จ่ายไปจริง ส่วนค่าผ่าตัดของจำเลยที่ 2 แม้จะไม่มีหลักฐานใบรับเงิน แต่จำเลยที่ 2 เบิกความรับ จึงรับฟังได้ รวมค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 259,512.70 บาท นอกจากนั้นโจทก์ยังมีนายแพทย์ธานี เสทะธัญ ซึ่งทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการเบิกความว่า ภายหลังจากที่โจทก์ทำการผ่าตัดกับจำเลยที่ 2 แล้วมีอาการเครียด เนื่องจากมีอาการเจ็บปวด ต่อมาภายหลังพบว่าการทำศัลยกรรมไม่ได้ผล ทำให้โจทก์เครียดมากกังวลและนอนไม่หลับรุนแรงกว่าก่อนผ่าตัดพยานจึงทำการรักษาเห็นว่า แม้โจทก์จะมีการเครียดอยู่ก่อนการผ่าตัด แต่เมื่อหลังผ่าตัดอาการมากขึ้นกว่าเดิม ความเครียด ของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงมาจากการผ่าตัด จำเลยต้องรับผิดและแม้ไม่มีใบเสร็จมาแสดงว่าได้เสียเงินไปเป็นจำนวนเท่าใดแน่นอนแต่น่าเชื่อว่าโจทก์ต้องรักษาจริง จึงเห็นสมควรกำหนดค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นเงิน 50,000 บาทรวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 309,512.70 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายไปดังกล่าว จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดใช้คืนให้โจทก์ส่วนค่าเสียหายอื่นนั้นเมื่อปรากฏว่าหลังจากแพทย์โรงพยาบาลอื่นได้รักษาโจทก์อยู่ในสภาพปกติแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน
ประเด็นข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นมูลละเมิด เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2537 ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน” ฉะนั้น อายุความปีหนึ่งที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิฟ้องร้องคดีละเมิดแม้จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2537 จะครบ 1 ปี ในวันที่ 13 เมษายน 2538 แต่ปรากฏว่าวันที่ 12 วันที่ 13 และวันที่ 14 เมษายน 2538 เป็นวันสงกรานต์หยุดราชการประจำปี ส่วนวันที่ 15 และ 16 เป็นวันเสาร์อาทิตย์ก็เป็นวันหยุดราชการโจทก์จึงยื่นฟ้องวันที่ 17 เมษายน 2538 ซึ่งเป็นวันเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/8 ดังนั้น คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 309,512.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 1

Share