คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีอาญาได้ คือ คดีอาญาเลิกกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 กรณีหนึ่งคดีเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 กรณีหนึ่ง และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39อีกกรณีหนึ่ง ดังนั้น แม้จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและโจทก์คดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายก็เป็นกรณีที่โจทก์ไปดำเนินการใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่งในคดีล้มละลาย บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 25 ไม่เกี่ยวกับกรณีคดีอาญาเลิกกันหรือสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแต่อย่างใดจำเลยจะขอให้ศาลจำหน่ายคดีนี้หาได้ไม่ จำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช็ค แต่ละฉบับ โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยแยกฟ้องเป็น 2 สำนวนโดยแต่ละสำนวนโจทก์ไม่ได้ขอให้นับโทษของจำเลยต่อจึงนับโทษ ต่อกันไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ซึ่งเป็นปัญหา ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใด ยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวนมีข้อความทำนองเดียวกันว่าโจทก์ได้รับเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสมุทรปราการรวม 2 ฉบับ จำเลยลงชื่อสั่งจ่ายเช็คทั้งสองฉบับเช็คฉบับแรกจำเลยมอบให้นางสมพรรณ รวมศิลป์ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามบันทึกข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับนางสมพรรณ ต่อมานางสมพรรณได้มอบเช็คให้โจทก์เพื่อเป็นการคืนเงินที่นางสมพรรณยืมไปจากโจทก์ส่วนเช็คฉบับที่สองจำเลยมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์ เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนด โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปีรวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งคงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษหรือจำหน่ายคดี โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าจำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ แต่ละฉบับสั่งจ่ายเงินจำนวนมากหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้วจำเลยมิได้ขวนขวายนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์แม้เพียงบางส่วนเพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษที่จำเลยฎีกาว่าศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว ทำให้จำเลยไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้นั้นมิใช่เหตุที่จะนำมาประกอบดุลพินิจในการรอการลงโทษให้จำเลยที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น เห็นว่าการที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีได้คือ คดีอาญาเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 กรณีหนึ่ง คดีเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 กรณีหนึ่ง และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39อีกกรณีหนึ่ง ดังนั้นแม้จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและโจทก์คดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายก็เป็นกรณีที่โจทก์ไปดำเนินการใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่งในคดีล้มละลายบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 25ไม่เกี่ยวกับกรณีคดีอาญาเลิกกันหรือสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแต่อย่างใด จำเลยจะขอให้ศาลจำหน่ายคดีนี้หาได้ไม่ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ เมื่อเช็คแต่ละฉบับธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์จึงนำคดีมาฟ้องโดยแยกฟ้องเป็นสองสำนวนโดยแต่ละสำนวนโจทก์ไม่ได้ขอให้นับโทษจำเลยต่อ จึงนับโทษต่อกันไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นับโทษจำเลยแต่ละสำนวนต่อกันจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ 1 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกสำนวนละ 6 เดือน โดยไม่นับโทษติดต่อกันนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share