คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1944/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรมธรรม์ประกันภัยที่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบถึงการสูญหายหรือเสียหายในทันทีและภายใน 15 วัน นับแต่วันเกิดการสูญเสียหรือเสียหาย มิฉะนั้นผู้รับประกันภัยจะไม่รับพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ถือว่าเป็นข้อสาระสำคัญแห่งสัญญา แม้บริษัทผู้รับประกันภัยจำเลยจะไม่ยกเงื่อนไขเป็นข้อต่อสู้ในการเจรจาประนีประนอม แต่ก็หาได้ตัดสิทธิจำเลยที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลไม่ เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งค่าเสียหายให้จำเลยทราบเพียงครั้งเดียว โดยค่าเสียหายก่อนหน้านั้นโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบ กรณีจึงมิได้เป็นตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยมีสิทธิที่จะไม่รับพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งก่อน ๆ ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 425,370 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสัญญากรมธรรม์ประกันภัยโดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบเป็นหนังสือถึงเหตุของการเสียหายของกำแพงรั้วที่เอาประกันภัยภายใน 15 วันนับแต่วันเกิดเหตุในแต่ละคราว เป็นเหตุให้จำเลยเสื่อมสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิด จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 371,250 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่วัตถุที่จำเลยรับประกันภัยตามธรรมดาผู้รับประกันภัยต้องรับผิด เว้นแต่จะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์การที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับผิดในค่าเสียหายครั้งอื่น แม้จะไม่เป็นที่ชัดแจ้งว่าจำเลยอ้างเหตุใดแต่คงเป็นเหตุตามเงื่อนไขในกรมธรรม์นั่นเอง นอกจากนี้ จำเลยยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์อยู่แล้ว จึงให้ตัวแทนเจรจาเรื่องค่าเสียหายอย่างเดียว หากตกลงกันได้ก็ไม่จำเป็นต้องยกเงื่อนไขในกรมธรรม์ขึ้นต่อสู้ แต่จะอย่างไรก็ตาม การที่จำเลยไม่ได้ยกเงื่อนไขขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในการเจรจาประนีประนอมหาได้ตัดสิทธิจำเลยที่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลไม่ และเห็นว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 6.1 ให้เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งเหตุการณ์สูญเสียหรือเสียหายใด ๆให้ผู้รับประกันภัยทราบทันทีและภายในกำหนด 15 วัน นั้นมีข้อกำหนดยกเว้นความรับผิดไว้ด้วยว่า ผู้รับประกันภัยจะไม่รับพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นอกจากผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจึงถือว่าเป็นข้อสาระสำคัญ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเงื่อนไขดังกล่าวแม้จะมีอยู่จริงแต่ก็ถือได้ว่ามิใช่สาระสำคัญเพราะมิฉะนั้น จำเลยก็น่าที่จะยกขึ้นต่อสู้ไว้เป็นข้อพิพาทแต่แรกในชั้นไกล่เกลี่ยของกรมการประกันภัยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ได้แจ้งเหตุการเสียหายให้จำเลยทราบภายในกำหนดเวลาตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยแล้วหรือไม่ข้อเท็จจริงรับกันว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2537 โจทก์ได้แจ้งเหตุทางโทรศัพท์ให้จำเลยทราบว่า กำแพงรั้วที่โจทก์ประกันภัยไว้กับจำเลยถูกรถยนต์โดยสารประจำทาง ข.ส.ม.ก. ถอยหลังไปชนได้รับความเสียหายนางสาวรัตนา เจริญชัยพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายรับประกันอัคคีภัยของจำเลยได้รับแจ้งและบันทึกไว้เป็นหลักฐานแล้วถือว่าโจทก์ไม่ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรอีก และต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งค่าเสียหายให้จำเลยทราบเพียงครั้งเดียวตามเอกสารหมาย จ.7 ปรากฏตามบันทึกสังเกตการณ์ความเสียหายซึ่งนายสุชาติ ธนประเวศ เจ้าหน้าที่สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต 1 นายกิตติพันธ์ พูลวรลักษณ์ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ และนายวิศิษฏ์ สุนทร ตัวแทนของจำเลยร่วมกันสำรวจและจัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.14 ประกอบภาพถ่ายหมาย จ.4 ถึง จ.7 และ ล.1 ถึง ล.5 ว่าทางด้านซ้ายของทางเข้ากำแพงรั้วเสียหายที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้จำนวน 15 ช่องและที่สามารถซ่อมแซมได้จำนวน 24 ช่อง ทางด้านขวากำแพงรั้วเสียหายที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้จำนวน 21 ช่อง ที่สามารถซ่อมแซมได้จำนวน 5 ช่อง นายอรุณ กาญจนวาณิชย์ หัวหน้าการเดินรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพซึ่งดูแลรับผิดชอบการเดินรถอู่บัวขาวที่เกิดเหตุเบิกความว่า ภาพถ่ายหมาย ล.2 จำนวน 3 ภาพเป็นกำแพงของอู่รถบัวขาวมีรูที่กำแพงและมีคราบเขม่าติดอยู่รถคันหนึ่งชนได้เพียงรูเดียว สภาพความเสียหายตามภาพถ่ายหมาย ล.4 และ ล.5 มิใช่เกิดจากการชนเพียงคันเดียวและครั้งเดียวแต่จะเกิดขึ้นเมื่อใดไม่ทราบ นายสุชาติก็เบิกความว่าความเสียหายโดยรวมของกำแพงรั้วมิใช่เกิดจากการชนของรถคันเดียวและครั้งเดียว นายกิตติพันธ์ก็รับว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการชนหลาย ๆ ครั้งรวมกัน จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ได้แจ้งเหตุความเสียหายให้จำเลยทราบเพียงครั้งเดียวเมื่อถูกรถโดยสารประจำทาง ข.ส.ม.ก. ถอยหลังชนในเดือนตุลาคม 2537ส่วนความเสียหายก่อนหน้านั้นโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบจึงมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยมีสิทธิที่จะไม่รับพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งก่อน ๆ นั้นได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6.1 ค่าเสียหายที่บริษัทกลชาติวัสดุภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ได้เสนอราคามายังโจทก์และโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นเงิน425,370 บาท และค่าเสียหายตามบันทึกการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กองประกันวินาศภัย กรมการประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.16เป็นเงินประมาณ 371,250 บาท นั้น เป็นราคาประเมินที่นำเอาความเสียหายครั้งก่อน ๆ รวมเข้าไว้ด้วย ปัญหาว่าค่าเสียหายที่เกิดจากรถยนต์โดยสาร ข.ส.ม.ก. ถอยหลังชนที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบในเดือนตุลาคม 2537 นั้น มีเพียงใด จำเลยนำสืบว่าได้รับแจ้งจากโจทก์ว่ารถยนต์โดยสารถอยหลังชนกำแพง 2 ช่องตามเอกสารหมาย ล.3 ที่โจทก์ส่งให้จำเลย เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบแล้วตีราคาความเสียหายไว้ 9,000 บาท และต่อมาจำเลยเพิ่มค่าเสียหายให้โจทก์ถึง 30,000 บาท ซึ่งสูงกว่าความเสียหายที่แท้จริง ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า ความเสียหายตามบันทึกสังเกตการณ์เอกสารหมาย จ.14 และตามภาพถ่ายหมาย จ.4 ถึง จ.6 นั้น มีผลข้างเคียงให้กำแพงรั้วที่อยู่ถัดไปล้มเองได้ เห็นว่าความเสียหายตามบันทึกสังเกตการณ์และตามภาพถ่ายดังกล่าวเป็นความเสียหายที่เกิดจากการชนอย่างรุนแรงถึงขนาดที่บางส่วนไม่สามารถซ่อมแซมได้ มีผลต่อเนื่องให้กำแพงซึ่งอยู่ถัดไปเกิดรอยร้าวและล้มเองได้ส่วนความเสียหายในครั้งก่อน ๆ มีเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ โจทก์จึงไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบเพื่อใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน เมื่อพิเคราะห์ค่าเสียหายตามหนังสือประเมินราคาของบริษัทกลชาติวัสดุภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.7 และบันทึกการตรวจสอบประเด็นความเสียหายของเจ้าหน้าที่กองประกันวินาศภัย ตามเอกสารหมาย จ.16 แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ 300,000 บาท ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (10 ตุลาคม 2538) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share