แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การวิดบ่อล่อสัตว์สัตว์น้ำอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 18 แก้ไขโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496 มาตรา 4 นั้น ต้องได้ความว่าเป็น บ่อล่อสัตว์น้ำ จากที่จับสัตว์น้ำ ดังที่กฎกระทรวง(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2490 ว่าด้วยบ่อล่อสัตว์น้ำ ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ข้อ 1 กำหนดไว้ สำหรับ หนอง ก็ เฉพาะที่เป็นหนองสาธารณะ จึงจะเป็นที่จับสัตว์น้ำตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 4(5) เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า หนอง(พิพาท) ไม่ใช่หนองสาธารณะก็ไม่เป็นที่จับสัตว์น้ำ บ่อล่อปลาของจำเลยในหนองดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นบ่อล่อสัตว์น้ำ ดังนี้ จำเลยวิดน้ำทำการประมงในบ่อของจำเลย จึงเอาผิดแก่จำเลยมิได้ (อ้างนัยฎีกาที่ 1103/2493)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ว่าจ้าง วาน ใช้ ฯลฯ ให้จำเลยที่ ๒ – ๓ กระทำผิด โดยร่วมกันวิดน้ำในบ่อล่อปลาในหนองฮ่องเหมือง อันเป็นหนองสาธารณประโยชน์ และทำให้น้ำในที่จับปลานั้นแห้งและลดน้อยลง เพื่อทำการประมง โดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษและริบของกลาง
จำเลยทั้ง ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ จ้างจำเลยที่ ๒ – ๓ วิดน้ำในบ่อล่อปลาในหนองฮ่องเหมืองเพื่อจับปลาจริง แต่บ่อล่อปลาเป็นของจำเลยที่ ๑ ร่วมกับนางจันทร์ ไม่ใช่อยู่ในที่สาธารณประโยชน์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๑๘, ๖๒ และพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๖ มาตรา ๔, ๗ ลดรับสารภาพแล้วปรับคนละ ๕๐ บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การวิดบ่อล่อสัตว์น้ำอันจะเป็นความผิดตามฟ้อง ต้องได้ความว่า เป็นบ่อล่อสัตว์น้ำจากที่จับสัตว์น้ำ ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๔๙๐ ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ ข้อ ๑ กำหนดว่า “บ่อล่อสัตว์น้ำ คือ ที่ล่อสัตว์น้ำ ซึ่งอยู่ในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ก็ดี หรือในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ดี ไม่ว่าบ่อล่อสัตว์น้ำนั้นจะมีลักษณะหรือรูปร่างอย่างใด โดยผู้ขุดหรือผู้สร้าง หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองมีความมุ่งหมายโดยตรงหรือโดยปริยาย ที่จะล่อสัตว์น้ำจากที่จับสัตว์น้ำ เพื่อประโยชน์ในการทำการประมง” สำหรับหนองก็เฉพาะที่เป็นหนองสาธารณะจึงจะเป็นที่จับสัตว์น้ำตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๔(๕) ซึ่งบัญญัติว่า “ที่จับสัตว์น้ำหมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฯลฯ ” เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า หนองฮ่องเหมืองไม่ใช่หนองสาธารณะ ก็ไม่เป็นที่จับสัตว์น้ำ ฉะนั้นบ่อล่อปลาของจำเลยในหน่องฮ่องเหมืองจึงถือไม่ได้ว่า เป็นบ่อล่อสัตว์น้ำ เพราะไม่ได้ล่อสัตว์น้ำจากที่จับสัตว์น้ำ การที่จำเลยวิดน้ำทำการประมงในบ่อของจำเลย จึงเอาผิดแก่จำเลยยังมิได้ นัยฎีกาที่ ๑๑๐๓/๒๔๙๓ พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น