คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ที่จะกระทำการแทนบริษัทจำเลยได้ต้องมีกรรมการ 2 คนลงชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลย แต่วันเดียวกับที่ ว. กรรมการของจำเลยลงชื่อในคำให้การ แต่ผู้เดียวโดยมิได้มีตราสำคัญประทับนั้น จำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ พ. เป็นผู้มาชี้แจงให้ถ้อยคำและต่อสู้คดีแทนจำเลยด้วยเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาสั่งให้จำเลยแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องอำนาจผู้ยื่นคำให้การได้
การสืบพยานในศาลแรงงานนั้น ศาลแรงงานจะเป็นผู้ซักถามพยานเองตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน ดังนั้น เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางได้ดำเนินการซักถามพยานโจทก์จำเลยโดยตลอด และไม่ปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าศาลแรงงานกลางได้ยกเอาคำซักถามพยานของ พ. ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยซึ่งมิได้เป็นทนายความตอนใดขึ้นมาเป็นเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย อุทธรณ์โจทก์จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นอย่างอื่น
ศาลแรงงานกลางมีอำนาจสั่งอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมได้หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว โดยเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่จะสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้นจึงเป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจของศาลอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ของจำเลยทั้งละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงจำเลยย่อมเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสียหายต่อชื่อเสียงขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนพร้อมด้วยดอกเบี้ย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ไม่ใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่อยู่ควบคุมงาน ทำให้จำเลยเสียหายและฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และไม่เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างเดือนหนึ่งแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในวันเดียวกับที่นายวิฑูรย์กรรมการผู้จัดการของจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในคำให้การแต่ผู้เดียวโดยมิได้มีตราสำคัญของจำเลยประทับนั้น จำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายพงษ์เดช เป็นผู้มาชี้แจงให้ถ้อยคำและต่อสู้คดีแทนจำเลยด้วย แสดงถึงเจตนาของจำเลยว่าประสงค์เข้ามาต่อสู้คดีแล้วเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาจึงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๓๑ สั่งให้จำเลยแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องอำนาจของผู้ยื่นคำให้การเสียให้สมบูรณ์ และจำเลยก็ได้แก้ไขแล้วโดยทำหนังสือมอบอำนาจให้นายวิฑูรย์เป็นผู้ต่อสู้คดีให้ถ้อยคำและลงชื่อในคำให้การจำเลยที่ยื่นต่อศาลแรงงานกลางอุทธรณ์โจทก์ข้อนี้จึงตกไป
ถึงแม้นายพงษ์เดช ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยมิได้เป็นทนายความจะไม่มีอำนาจซักถามพยานและซักค้านพยานก็ตาม แต่วิธีดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๔๕ บัญญัติว่าในการสืบพยาน ไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเองให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน และศาลแรงงานกลางก็ได้ดำเนินการซักถามพยานของโจทก์จำเลยตลอดมา และไม่ปรากฏตามอุทธรณ์โจทก์ว่าศาลแรงงานกลางได้ยกเอาคำซักถามพยานหรือคำซักค้านพยานของนายพงษ์เดชตอนใดขึ้นมาเป็นเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย อุทธรณ์โจทก์จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นอย่างอื่น
ศาลแรงงานกลางพิจารณาเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงได้สั่งอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมได้หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว เป็นอำนาจของศาลที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๗(๒) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๓๑ จึงถือได้ว่าการยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยเป็นการชอบแล้ว การสั่งอนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติมได้หรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางการที่โจทก์ว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบเท่ากับเป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๕๔
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับคำสั่งของจำเลย ทั้งละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทำให้จำลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแล้วจำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share