คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารบันทึกข้อตกลงระบุว่า “ที่ดินโฉนดที่ ฯลฯ ยังคงจำนองอยู่ตามสัญญาเดิม และยังคงเหลือเงิน 210,000 บาท”เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าที่ดินโฉนดใดยังติดจำนองอยู่ และหนี้จำนองเหลืออยู่เท่าใดเท่านั้น การนำสืบถึงการชำระหนี้จำนองหาใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเอกสารฉบับดังกล่าวไม่ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 แต่การนำสืบถึงการชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคสอง
การชำระหนี้เงินกู้ด้วยเช็ค เป็นการชำระหนี้ด้วยการออกตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสามจึงเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งมิใช่การชำระหนี้ด้วยเงินจึงไม่ต้องด้วย มาตรา 653 วรรคสองศาลย่อมรับฟังพยานบุคคลที่จำเลยนำสืบในเรื่องการชำระหนี้ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 767/2505)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2514 จำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14407 เพื่อค้ำประกันเงินที่กู้โจทก์ไป 500,000 บาท กำหนดไถ่ถอน 1 ปี ต่อมาจำเลยขอใส่ชื่อบุคคลอื่นอีก 4 คนเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวเฉพาะส่วนและจำเลยได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็น 26 โฉนด ทุกโฉนดคงติดจำนองโจทก์อยู่ ต่อมาจำเลยได้แบ่งไถ่ถอนจำนองไปบางโฉนด และโจทก์ได้ปลดจำนองให้บางโฉนดยังคงเหลือที่ดินที่ยังคงติดจำนองโจทก์อีก 7 โฉนด และจำเลยยังค้างต้นเงินจำนองอีก210,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอีกเลย โจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาบังคับ

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14407 กับโจทก์เป็นเงิน 500,000 บาทจริง แต่โจทก์หักค่าปากถุง คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายและให้จำเลยทดรองจ่ายภาษี จำเลยได้รับเงินไปจริงเพียง433,750 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้ไถ่ถอนจำนองและโจทก์ได้ปลดจำนองให้เป็นระยะ ๆ การชำระเงินของจำเลยเพื่อไถ่ถอนจำนองและเพื่อให้โจทก์ปลดจำนองให้มีหลักฐานใบเสร็จรับเงินเช็คเงินสด หลักฐานการไถ่ถอนและปลอดจำนวนหลักหุ้นทางบัญชี เนื่องจากโจทก์ไม่ได้คิดบัญชีกับจำเลยจึงเป็นเหตุให้จำเลยหลงผิดชำระเงินให้โจทก์เกินไป จำเลยมิได้เป็นหนี้จำนองโจทก์ จำเลยแจ้งให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้จำเลยและให้คืนเงินที่จำเลยชำระเกินพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน271,898.84 บาท แต่โจทก์เพิกเฉย จึงฟ้องแย้งขอให้ศาลบังคับและให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ไม่เคยรับเงินปากถุง ไม่ได้คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ส่วนค่าภาษีโจทก์ให้จำเลยจ่ายแทน โจทก์มอบเงินต้นให้จำเลยรับไปครบถ้วน จำเลยไม่เคยชำระเงินเกินให้โจทก์ ทั้งจำเลยยังยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่แต่จำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมชำระ จำเลยนำหนี้รายอื่นมาพัวพันทำให้หลงผิด ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยชำระต้นเงินจำนองเกินไป 197,000 บาท ชำระดอกเบี้ยเกินไป 13,579.09 บาท รวมเป็นเงิน210,579.09 บาท โจทก์ต้องคืนให้จำเลยฐานลาภมิควรได้ พิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามเอกสารหมาย ล.15 ซึ่งจำเลยไถ่ถอนจำนองครั้งสุดท้าย ระบุว่าหนี้จำนองตามสัญญาเดิมยังเหลืออยู่ 210,000บาท จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลว่าได้ชำระเงินจำนองส่วนที่เหลือให้โจทก์แล้ว ไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94วรรคแรก พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 367,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ยกฟ้องแย้ง

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เอกสารหมาย ล.15 ซึ่งมีข้อความว่า”ที่ดินโฉนดที่ ฯลฯ ยังคงจำนองอยู่ตามสัญญาเดิมและยังคงเหลือเงิน210,000 บาท” เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าที่ดินโฉนดใดยังติดจำนองอยู่และหนี้จำนองเหลืออยู่เท่าใดเท่านั้น การนำสืบถึงการชำระหนี้จำนองหาใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเอกสารหมาย ล.15 ไม่ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 แต่การนำสืบถึงการชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสองอนึ่งการชำระหนี้เงินกู้ด้วยเช็คนั้นเป็นการชำระหนี้ด้วยการออกตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสาม จึงเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งมิใช่การชำระหนี้ด้วยเงิน จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง ศาลย่อมรับฟังบุคคลที่จำเลยนำสืบในเรื่องการชำระหนี้ได้ ส่วนการชำระดอกเบี้ยไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสองจำเลยจึงอาจนำสืบพยานบุคคลได้ ศาลฎีกาได้พิจารณาพยานหลักฐานของจำเลยเกี่ยวกับชำระหนี้จำนองและดอกเบี้ยแล้วเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์

พิพากษายืน

Share